หย่าแบบอิสลามขัดรัฐธรรมนูญอินเดีย ศาลตัดสินหลังมุสลิมะห์จับมือฮินดูหัวรุนแรงฟ้อง

ศาลสูงสุดอินเดียมีคำพิพากษาวันอังคาร (22 สิงหาคม) ว่าตามหลักการศาสนาอิสลามที่ให้การหย่าขาดกระทำโดยสามีด้วยการกล่าวคำว่า “หย่า” ที่เรียกว่า “เฏาะลาก” (talaq) 3 ครั้ง นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากกลุ่มสตรีมุสลิมกลุ่มหนึ่งจับมือกับกลุ่มการเมืองฮินดูหัวรุนแรงแรงยื่นฟ้องร้องต่อศาล

หลักศาสนาอิสลามที่วางเงื่อนไขของการหย่าด้วยการให้สามีเป็นผู้กล่าวหย่า 3 ครั้ง ได้ถูกกลุ่มผู้ชายที่มักง่ายในการบอกเลิกกับภรรยาของตน หนักขึ้นถึงกับใช้วิธีการหย่าผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน “สไกป์” หรือ “วอตส์แอปป์” จนทำให้ถูกนำประเด็นดังกล่าวมาใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไข่เพื่อต่อต้านหลักการในศาสนาอิสลาม

คณะผู้พิพากษา 3 ใน 5 คนวินิจฉัยว่าธรรมเนียมเช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งทำให้การบอกเลิกด้วยวิธีกล่าว “เฏาะลาก” ไร้ผลในทางกฎหมายทันที

คำตัดสินของศาลในช่วงแรกๆ ผู้พิพากษาสูงสุดแห่งอินเดียวินิจฉัยให้ระงับธรรมเนียมปฏิบัตินี้ไว้ชั่วคราว และขอให้รัฐบาลออกกฎหมายใหม่มารองรับภายใน 6 เดือน แต่ผู้พิพากษาอีก 3 คนกลับฟันธงว่าการหย่าภรรยาด้วยวิธีนี้ขัดรัฐธรรมนูญ

“ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระเสียทีในวันนี้ ฉันมีคำสั่งศาลที่จะช่วยให้ผู้หญิงมุสลิมอีกมากมายได้รับการปลดปล่อย” ชายารา บาโน หนึ่งในสตรีที่ยื่นฟ้องศาลให้สั่งยุติการนำหลักการนี้มาใช้ในอินเดีย ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

การดำเนินการในประเด็นกฎหมายนี้มาจากการร่วมมือกันของสตรีชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่ง กับพรรคชาตินิยมฮินดูหัวรุนแรงภารติยะชนตะภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ซึ่งออกมาต่อต้านศาสนาอิสลามต่อเนื่อง

ด้านองค์กรมุสลิมบางแห่งยืนยันว่ารัฐไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายความเชื่อทางศาสนา

ขณะที่กฎหมายอินเดียอนุญาตให้สถาบันทางศาสนาออกกฎว่าด้วยการดำเนินชีวิตส่วนตัวของศาสนิก เช่น การแต่งงาน หย่าร้าง และรับมรดก เป็นต้น เพื่อให้อิสระแก่ชุมชนที่นับถือศาสนาต่างๆ กัน

ความคิดเห็น

comments