ข้าหลวงใหญ่ UN ชี้พม่าละเมิดสิทธิโรฮิงญาหลายสิบปี ย้ำนองเลือดป้องกันได้

เจ้าชายสอิ๊ด ราอุด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า การละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นเวลาหลายสิบปี เป็นเหตุส่วนใหญ่ของความรุนแรงที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในรัฐยะไข่ของพม่า และย้ำว่าพม่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดได้

เจ้าชายสอิ๊ด แสดงความวิตกถึงการสู้รบในรัฐยะไข่ ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ (25) หลังพม่าบอกว่ามีกลุ่มนักรบโรฮิงญาซุ่มโจมตีพร้อมกันหลายจุดต่อกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า

เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และทำให้ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 8,700 คน พยายามหลบหนีไปบังกลาเทศ

“ผมขอประณามการโจมตีอย่างรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิต และการพลัดถิ่นของผู้คนหลายพันชีวิต” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง

การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ที่รวมถึงการตอบโต้ด้านความมั่นคงอย่างรุนแรงต่อการโจมตีตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2559 เป็นส่วนสำคัญที่หล่อเลี้ยงแนวคิดหัวรุนแรง

ในอดีตชาวโรฮิงญามักหลบเลี่ยงความรุนแรง แต่แนวทางนั้นได้เปลี่ยนไปในเดือน ตุลาคมปีก่อน เมื่อโรฮิงญากลุ่มหนึ่งได้ดำเนินการโจมตีด่านชายแดนตำรวจพม่าจนทำให้มีตำรวจพม่าเสียชีวิต ทหารได้ตอบโต้เหตุโจมตีดังกล่าวด้วยปฏิบัติการกวาดล้างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาตามหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ ที่สหประชาชาติเตือนว่า อาจเทียบได้กับการล้างเผ่าพันธุ์

และการโจมตีในลักษณะเดียวกันได้เกิดขึ้นอีกครั้งในวันศุกร์ (25) โดยโจมตีด่านตำรวจประมาณ 30 แห่ง และสังหารเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงอย่างน้อย 12 นาย ด้วยอาวุธมีด ระเบิดแสวงเครื่อง และปืน

เจ้าชายสอิ๊ด เรียกร้องให้นำตัวผู้ที่โจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคง และพลเรือนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง

“ผู้นำทางการเมืองของพม่าควรประณามการใช้ถ้อยคำที่ทำให้รู้สึกเดือดดาล และยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบนสื่อสังคมออนไลน์” เจ้าชายสอิ๊ด ระบุ

นอกจากนั้น เจ้าชายสอิ๊ด ยังแสดงความวิตกถึงคำกล่าวอ้างที่ไร้ความรับผิดชอบของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐของนางอองซาน ซูจี ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือให้การสนับสนุนกลุ่มโรฮิงญาในการก่อเหตุโจมตีล่าสุด

“ผมรู้สึกเป็นกังวลอย่างมากถึงข้อกล่าวหาที่มีต่อองค์กรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้นตกอยู่ในอันตราย และอาจทำให้ไม่สามารถจัดส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นได้” เจ้าชายสอิ๊ด กล่าว

ขณะที่ Chris Lom โฆษกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ IOM กล่าวกับ AFP เมื่อวันพุธที่(29 สิงหาคม)ผ่านมาว่า “เมื่อคืนที่ผ่านมาพบชาวโรฮิงญา 18,500 คนหลบหนีออกจากรัฐยะไข่”

โฆษก IOM กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องยากที่จะยืนยันตัวเลขผู้อพยพได้ในเวลานี้ เนื่องจากชาวโรฮิงญาบางส่วนเดินทางเข้าบังกลาเทศโดยไม่ได้มีการลงทะเบียนกับหน่วยงานระหว่างประเทศ

“เรารู้ว่ามีคนติดค้างอยู่พรมแดน แต่เราไม่รู้ว่าจำนวนเท่าไหร่” เขากล่าว

https://www.youtube.com/watch?v=wHfXCN0rqHI

https://www.youtube.com/watch?v=AEMTRKFKgyo

ความคิดเห็น

comments