กลุ่มบรรเทาทุกข์นานาชาติในพม่าเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดทางให้พวกเขาเข้าถึงรัฐยะไข่ซึ่งทหารใช้ปฎิบัติการปราบปรามรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา หลังก่อนหน้านี้ทหารพม่าได้พานักข่าวเข้าพื้นที่เป็นครั้งแรกไปดูหลุมศพที่ทหารพม่าอ้างว่าเป็นของชาวฮินดู พร้อมกล่าวหาคนเหล่านี้เป็นเหยื่อความรุนแรงของชาวโรฮิงญา แต่ชาวฮินดูที่หนีตายเข้าไปบังกลาเทศระบุว่ากลุ่มผู้ที่โจมตีพวกเขาเป็นชายชุดดำ ไม่ระบุเป็นโรฮิงญา
หลังกองทัพใช้ปฎิบัติการทางทหารในพื้นที่ รัฐบาลได้ห้ามไม่ให้องค์กรความช่วยเหลือนานาชาติ (NGOs) แม้แต่หน่วยงานของสหประชาชาติ ปฏิบัติงานในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่โดยอ้างเหตุผลความปลอดภัย
“NGOs ในพม่าเป็นกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการจำกัดการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมอย่างเด็ดขาดและอุปสรรคทางกฎหมายในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างมากทั่วทั้งรัฐยะไข่” กลุ่มบรรเทาทุกข์ ระบุในถ้อยแถลงเมื่อค่ำวันพุธ (27)
คนจำนวนนับไม่ถ้วนถูกทำให้พลัดถิ่น ในขณะที่หลายแสนคนขาดแคลนอาหาร ที่พัก และการบริการทางการแพทย์ กลุ่มต่างๆ รวมถึง Care International, Oxfam และ Save the Children ระบุ
“เราต้องการให้รัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ของพม่ารับประกันว่า ประชาชนทุกคนในรัฐยะไข่จะสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อรักษาชีวิตได้อย่างเต็มที่ อิสระ และไม่ถูกขัดขวาง”
รัฐบาลมอบหมายให้สภากาชาดของพม่า (Myanmar Red Cross) เป็นองค์กรเดียวในการทำหน้าที่เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross)
ถึงกระนั้นกลุ่มต่างๆ ก็ระบุว่า พวกเขากลัวว่า ความช่วยเหลือที่ไปถึง “จะไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมที่มหาศาล”
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ตกต่ำลงมานานหลายเดือนแล้ว โดยรัฐบาลพม่ากล่าวหาว่ากลุ่มเหล่านี้ให้ความช่วยเหลือนักรบชาวโรฮิงญา
กลุ่มบรรเทาทุกข์ปฏิเสธข้อหาดังกล่าวซึ่งพวกเขาระบุว่าวาทะกรรมของรัฐบาลพม่า เป็นความพยายามสร้างความเกลียดชังในหมู่ชาวพุทธที่มีต่อผู้ทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่
กลุ่มบรรเทาทุกข์ระบุว่า การข่มขู่ การกล่าวหา และการให้ข้อมูลผิดๆ ก่อให้เกิดความกลัวอย่างแท้จริงในหมู่ผู้ทำงานช่วยเหลือ และพวกเขาเรียกร้องให้หยุด “การให้ข้อมูลผิดๆ และการกล่าหาเลื่อนลอย” และขอให้รัฐบาลรับประกันความปลอดภัยของผู้ทำงานช่วยเหลือด้วย
องค์การสหประชาชาติกล่าวหาว่ากองทัพทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อผลักดันชาวมุสลิมโรฮิงญาออกจากพม่า และกลุ่มสิทธิระบุว่า กองทัพก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรอาวุธแก่รัฐบาลพม่า
ทั้งนี้ในถ้อยแถลงของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพม่า และร้องประธานาธิบดีมพ่าต่อที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ ยืนยันว่าความรุนแรงในยะไข่ได้ยุติลงแล้วตั้งแต่วันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา แต่ทว่าทางการพม่ากลับยังคงไม่ยอมเปิดทางให้องค์กรบรรเทาทุกข์นำความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ซึ่งจะยังมีชาวโรฮิงญาราว 700,000 คน ติดค้างอยู่ในพื้นที่ โดยไม่มีความช่วยเหลือใดเข้าไปถึง