พม่าคุยบังกลาเทศ พร้อมรับชาวโรฮิงญาหลายที่หนีตายไปบังกลาเทศในช่วงหลายสัปดาห์มานี้กลับประเทศ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานคัดกรองการส่งผู้ลี้ภัยกลับ ขณะที่ยอดผู้ลี้ภัยพุ่ง 507,000 คนนับแต่วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
เอ เอช มะห์มูด อาลี รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศกล่าวว่า ผู้แทนของนางอองซานซูจี เห็นชอบที่จะจัดตั้งกลุ่มทำงานเพื่อประสานงานการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดใดๆ
“การหารือมีขึ้นในบรรยากาศที่เป็นมิตรและพม่าได้เสนอที่จะรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับไป” รัฐมนตรีกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือกับกอ ติน ส่วย ในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ
“ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในข้อเสนอที่จะจัดตั้งกลุ่มทำงานร่วมกันเพื่อประสานงานกระบวนการส่งกลับประเทศ” รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศกล่าว
ซูจีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากความล้มเหลวที่จะเข้าแทรกแซงการปราบปรามของทหารต่อชาวโรฮิงญา กล่าวแถลงเมื่อเดือนก่อนว่าพม่าจะรับตัวผู้ลี้ภัยที่ผ่านการตรวจสอบกลับประเทศ กระบวนการที่อาจดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดขึ้นระหว่างสองประเทศเมื่อปี 2536
รัฐมนตรีของบังกลาเทศไม่ได้ระบุกรอบเวลาสำหรับการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่า แต่ระบุว่าผู้ลี้ภัยจะได้รับการตรวจสอบโดยกลุ่มทำงานร่วม ที่สหประชาชาติไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ยังไม่มีความเห็นจากฝั่งตัวแทนของนางอองซานซูจี ที่เดินทางถึงบังกลาเทศในช่วงเช้าวันนี้ (2) และคาดว่าจะเดินทางกลับประเทศในวันเดียวกัน
องค์การสหประชาชาติเรียกการอพยพของชาวโรฮิงญา 507,000 คนนับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านผู้ลี้ภัยที่มีพัฒนาการเร็วที่สุดในโลก และระบุว่า พม่าทำการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
พม่าปฏิเสธข้อหาดังกล่าว กองทัพของพวกเขาเริ่มปฏิบัติการในตอนเหนือของรัฐยะไข่เพื่อตอบโต้การโจมตีของนักรบโรฮิงญาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม
พม่ากล่าวโทษว่าฝ่ายนักรบโรฮิงญาโจมตีพลเรือนและก่อเหตุวางเพลิงที่ทำให้หมู่บ้านชาวโรฮิงญากว่า 400 หมู่บ้านในตอนเหนือของรัฐยะไข่หายไปกว่าครึ่ง ด้านฝ่ายนักรบโรฮิงญาปฏิเสธข้อหาของพม่า
แต่ทว่าหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมารายงานก่อนหน้านี้ว่า นายวิน เมียตเอ รัฐมนตรีการพัฒนาสังคม บรรเทาทุกข์ และย้ายถิ่นฐานของพม่ากล่าวว่า จะใช้กฎหมายการจัดการภัยพิบัติกำหนดให้รัฐบาลเข้าไปบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติและพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง โดยที่ดินที่ถูกเผาจากเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่จึงจะต้องให้รัฐบาลเข้าไปจัดการ แต่ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดเรื่องแผนการฟื้นฟู หรือจะอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในที่ดินตัวเองเหมือนเดิมหรือไม่ หากเดินทางกลับมาพม่า หลังรัฐบาลเข้าพื้นฟูพื้นตามกฎหมายแล้ว
นายกรัฐมนตรี เชค์ ฮาซินา ของบังกลาเทศเรียกร้องผ่านเวทีสหประชาชาติให้ยุติความรุนแรง และจัดตั้งเขตปลอดภัยในพม่าเพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถกลับไปได้
เธอยังเรียกร้องให้ส่งทีมสืบสวนข้อเท็จจริงของสหประชาชาติไปยังพม่า และขอให้พม่าทำตามคำแนะนำจากทีมที่นำโดยอดีตเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ โคฟี อันนัน เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในรัฐยะไข่
“เราไม่คิดว่าวิกฤตนี้จะแก้ได้ในการประชุมเพียงครั้งเดียว” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศที่ปฏิเสธจะให้เปิดเผยชื่อเนื่องจากเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อ กล่าว