ทหารพม่าเริ่มการสอบสวนภายในด้วยการสอบถามนายทหารว่าละเมิดสิทธิ์ชาวโรฮิงญาในการปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ก่อนนำข้อมูลคำตอบของนายทหารเผยแพร่ต่อไป
ทหารพม่าอ้างการโจมตีของ ARSA ที่เกิดขึ้นกับด่านตำรวจกว่า 30 จุด และค่ายทหาร 1 แห่งในวันที่ 25 สิงหาคม เป็นข้ออ้างในการเปิดปฎิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวมุสลิม และสหประชาชาติระบุว่าปฎิบัติการดังกล่าวเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
คณะกรรมการภายใต้การนำของ พล.ท.เอ วิน ได้เริ่มการสอบสวนพฤติกรรมของนายทหาร ตามการระบุของสำนักงานผู้บัญชาการทหารที่ยังยืนยันก่อนการทำการสำรวจว่าปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ
ตามคำแถลงที่โพสต์บนเพจเฟซบุ๊กของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย คณะกรรมการจะสอบถามนายทหารว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของทหารหรือไม่ ดำเนินการตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดระหว่างปฏิบัติการหรือไม่ และหลังจากนั้นคณะกรรมการจะนำข้อมูลทั้งหมดออกเผยแพร่
พม่าขัดขวางการเดินทางเข้าประเทศของคณะจากสหประชาชาติ ที่ได้รับหน้าที่ให้เข้าสืบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดต่างๆ นับตั้งแต่ปฎิบัติการทางทหารก่อนหน้านี้ตั้งแต่เตือนตุลาคม 2559
แต่การสอบสวนภายในประเทศของรัฐบาล รวมทั้งการสอบสวนภายในของทหารก่อนหน้านี้ต่อเหตุที่ทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 79,000 คนหนีตายเข้าไปในบังกลาเทศในเวลานั้นว่า ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันเมื่อทหารพม่าจัดให้สื่อลงพื้นที่ ชาวโรฮิงญากลับเปิดเผยผ่านสื่อพร้อมชี้ที่กองเถ้าถ่านว่าพ่อของเขาถูกทหารโยนใส่กองไฟ และเผาไปพร้อมกับบ้านที่ตรงนี้
ขณะที่ปัจจุบันในแต่ละวันยังคงมีชาวโรฮิงญาหลายพันคนยังคงเดินทางข้ามแม่น้ำนาฟที่กั้นกลางระหว่างพม่าและบังกลาเทศ แม้นางอองซาน ซูจี ผู้นำสูงสุดของพม่าจะระบุว่าไม่มีความรุนแรงในพื้นที่แล้วตั้งแต่วันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา
หน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประเมินว่ามีประชาชนราว 536,000 คน เดินทางถึงเมืองคอกซ์บาซาร์ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มช่วยเหลือเริ่มขาดแคลนทรัพยากร
ในบังกลาเทศนั้นมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ก่อนแล้วราว 300,000 คน หลังหลบหนีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าก่อนหน้านั้น ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง และยังเผชิญกับข้อจำกัดความเคลื่อนไหวและการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ ในพม่า
แม้นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า จะได้ให้คำมั่นว่าจะรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกล่าวว่าพม่าจะรับผู้ลี้ภัยที่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นชาวพม่ากลับประเทศ
แต่ผู้บัญชาการกองทัพกลับแสดงจุดยืนแข็งกร้าว โดยกล่าวกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพม่าว่าการอพยพของชาวโรฮิงญาที่เขาระบุว่าเป็นชาวเบงกาลีนั้นเป็นการกล่าวเกินจริงไปมาก
และในความเห็นต่อเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่สื่อท้องถิ่นนำออกเผยแพร่ ระบุว่าพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ได้ปฏิเสธการกวาดล้างชาติพันธุ์ โดยอ้างเหตุผลจากภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าชาวมุสลิมเดินทางออกไปอย่างสงบมากกว่าที่จะหลบหนีด้วยความหวาดกลัว