จีนตกลงที่จะปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้นในท่าเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ในรัฐยะไข่ของพม่าเหลือ 70% ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า
อู หม่อง รองประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ ระบุว่าพม่าได้ผลักดันการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นให้มากขึ้นในโครงการท่าเรือน้ำลึกมูลค่า 7,200 ล้านดอลลาร์ ในรัฐยะไข่ ในการเจรจากับกลุ่มบริษัทภายใต้การนำของบริษัท CITIC Group ของจีน ที่บรรลุข้อตกลงเมื่อเดือนกันยายน
“คนท้องถิ่นจากรัฐยะไข่และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศคิดว่าข้อตกลงที่แบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นในโครงการก่อนหน้านี้ที่กำหนดไว้ 85/15 นั้นไม่ยุติธรรมสำหรับพม่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว และรัฐบาลกำลังพยายามที่จะทำให้ข้อตกลงนั้นดีขึ้น” อู หม่อง กล่าว
แม้ข้อเสนอใหม่ถูกส่งไปยังสำนักงานของรองประธานาธิบดีเฮนรี วัน เทียว เพื่ออนุมัติ แต่ อู หม่อง กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่บรรลุข้อตกลงในรายละเอียดด้านการเงิน จำเป็นต้องเจรจาหารือเพิ่มเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไป
ประธานบริหารบริษัท CITIC Myanmar ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทม์สที่ตีพิมพ์เมื่อวันจันทร์ (16) ว่า บริษัทเห็นพ้องกับสัดส่วนหุ้น 30% แต่จำเป็นต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมในรายละเอียดด้านการเงิน
เมื่อเดือนพฤศภาคม รอยเตอร์ได้รายงานว่า บริษัท CITIC เสนอถือหุ้นระหว่าง 70-85% ในโครงการท่าเรือจอก์พยู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตววรตที่ 21 “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค
จีนกำลังผลักดันการเข้าถึงอย่างเป็นพิเศษยังท่าเรือน้ำลึกจอก์พยูบนอ่าวเบงกอล ที่เป็นประตูทางเข้าของท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ที่เป็นเส้นทางเลือกในการนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลาง เพื่อเลี่ยงการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา
ท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา 2 โครงการ ที่รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษรัฐยะไข่ ซึ่งบริษัท CITIC ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้นำการพัฒนาในทั้ง 2 โครงการเมื่อปี 2558
บริษัท CITIC และรัฐบาลพลเรือนของพม่ายังอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับการเงินของโครงการ ซึ่งอู หม่อง ระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่ง พม่าเป็นผู้รับผิดชอบทุนของโครงการที่ 15% เท่านั้น
แต่เวลานี้ CITIC ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบที่ 30% ตามสัดส่วนการถือหุ้น ขณะที่พม่าต้องการยึดตามแบบเดิม
เขตเศรษฐกิจแห่งนี้เผชิญกับการคัดค้านจากนักเคลื่อนไหวและประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยื่นประมูล และกล่าวว่าการพัฒนาโครงการจะส่งผลกระทบเชิงลบกับคนท้องถิ่น
จีนกล่าวว่า การพัฒนาจอก์พยูอยู่บนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันบริษัท CITIC กล่าวว่า บริษัทจะสร้างโรงเรียนอาชีวศึกษาเพื่อให้การฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นสำหรับเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ และยังให้ทุนจำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์กับหมู่บ้านท้องถิ่นเพื่อพัฒนาธุรกิจอีกด้วย