ผู้นำกองทัพพม่าต้องรับผิดชอบเหตุกวาดล้าง “โรฮิงญา”

สหรัฐฯ ถือว่าผู้นำกองทัพพม่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปฏิบัติการกวาดล้างที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาต้องหนีตายออกนอกประเทศมากกว่า 500,000 คน เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (18 ตุลาคม) แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบโต้พวกผู้นำทหารพม่าหรือไม่ ส่วนที่ปรึกษาพิเศษ 2 คน ของสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า รัฐบาลพม่าไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีสากลและไม่ปกป้องชาวมุสลิมโรฮิงญาจากความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ พร้อมกับตำหนิประชาคมโลกว่าล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น

สหรัฐฯ ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซาน ซูจี โดยหวังดึงพม่าออกห่างจากจีน

“ประชาคมโลกไม่อาจนิ่งเฉยต่อความโหดร้ายที่เกิดขึ้น เราถือว่าผู้นำกองทัพพม่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้ด้วย” ทิลเลอร์สัน กล่าวปาฐกถาทีศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ “มีความกังวลมากพิเศษ” เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า

สมาชิกสภาคองเกรส 43 คนได้เรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศคำสั่งห้ามเดินทาง (travel ban) ต่อเหล่าผู้บัญชาการกองทัพพม่า และเตรียมคว่ำบาตรบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกวาดล้างชาวโรฮิงญา

จดหมายที่กลุ่ม ส.ส.เดโมแครตและรีพับลิกันส่งถึง ทิลเลอร์สัน ระบุว่า รัฐบาลพม่า “ทำเหมือนไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น” และสหรัฐฯ ควรดำเนินการตอบโต้อย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มบุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทิลเลอร์สัน ชี้ว่า สหรัฐฯ เข้าใจปัญหาความไม่สงบภายในพม่า แต่กองทัพจำเป็นต้องรักษาระเบียบ และหยุดตอบสนองปัญหาในแบบที่ทำอยู่ รวมถึงเปิดทางเข้าถึงพื้นที่สู้รบ “เพื่อเราจะได้รับรู้ข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

“หากรายงานที่ออกมาเป็นความจริง ก็จะต้องมีใครบางคนรับผิดชอบ และเป็นหน้าที่ของผู้นำกองทัพพม่าที่จะต้องตัดสินใจว่า พวกเขาจะมีบทบาทอย่างไรกับอนาคตของประเทศ”

ทิลเลอร์สัน ยืนยันว่า สหรัฐฯ มองพม่าเป็น “รัฐประชาธิปไตยเกิดใหม่ที่สำคัญ” และวิกฤตชาวโรฮิงญาก็คือบททดสอบสำหรับรัฐบาลที่ยังต้องแชร์อำนาจระหว่างกองทัพกับฝ่ายพลเรือน

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรผู้นำทหารพม่า โดยเน้นไปที่บรรดานายพลระดับสูง แต่ก็เกรงว่าบทลงโทษนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจพม่าโดยรวม และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ซูจี กับกองทัพที่ตึงเครียดอยู่แล้วทรุดหนักลงไปอีก

ด้านที่ปรึกษาพิเศษสหประชาชาติแถลงร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลพม่าต่อวิกฤติโรฮิงญาว่า ทั้งที่พวกเขาและเจ้าหน้าที่อีกหลายคนได้เตือนแล้ว รัฐบาลพม่าก็ยังคงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีในกฎหมายสากลและความรับผิดชอบหลักในการปกป้องชาวโรฮิงญาจากอาชญากรรมโหดร้าย

ขณะที่ประชาคมโลกก็ล้มเหลวพอกันในการแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ การไม่หยุดยั้งอาชญากรรมโหดร้ายก็เท่ากับเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด เมื่อใดทุกคนจึงจะทำตามคำสัญญานับครั้งไม่ถ้วนว่าจะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UNSC) เรียกร้องพม่ายุติปฏิบัติการทหารในรัฐยะไข่ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน และอนุญาตให้ชาวโรฮิงญากลับประเทศอย่างปลอดภัย แต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับพม่า

นักการทูตเผยว่า จีนและรัสเซีย สองประเทศสมาชิกถาวรสหประชาชาติคัดค้านการออกมาตรการคว่ำบาตรพม่า

นายเจฟฟรีย์ เฟลต์แมนรองเลขาธิการสหประชาชาติด้านกิจการการเมืองเพิ่งกลับจากการพูดคุยกับนางออง ซาน ซู จี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาเป็นเวลา 5 วันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แต่ไม่บรรลุผลใดๆ

ความคิดเห็น

comments