นักท่องเที่ยวเข้าพม่าหด กลุ่มยุโรปย้ำคว่ำบาตรด้านมนุษยธรรม

ในรอบปีที่ผ่านมาพม่ากลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากแห่งหนึ่งของโลก แต่ภาพฝันเหล่านั้นกำลังสั่นคลอนด้วยภาพหมู่บ้านถูกเผาทำลาย และชาวมุสลิมโรฮิงญากว่าครึ่งล้านคนต้องหลบหนีความรุนแรงของทหารในรัฐยะไข่ ได้สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก และก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงถึงความทุกข์ทรมานของผู้คนที่ต้องหลบหนีลี้ภัย

นับตั้งแต่เหตุนองเลือดปะทุขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับการยกเลิกทัวร์เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความวิตกไปทั่วอุตสาหกรรมในช่วงที่กำลังก้าวเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม

“ตารางท่องเที่ยวเกือบทั้งหมดในเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน ถูกยกเลิกเนื่องจากความไม่มั่นคงในประเทศ เพราะสถานการณ์ในรัฐยะไข่” ทุน ทุน นาย จากบริษัทท่องเที่ยว New Fantastic Asia Travels and Tour กล่าว

“กลุ่มทัวร์ส่วนใหญ่จากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และชาติเอเชียต่างๆ อ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรปบางส่วนบอกชัดว่าพวกเขาต้องการคว่ำบาตรเพราะสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม” ทุน ทุน นาย กล่าว

ในนครย่างกุ้ง เมืองที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาณานิยม ยังสามารถพบเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินชมความงามบริเวณเจดีย์ชเวดากอง แต่นักท่องเที่ยวเหล่านี้ยอมรับว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นฉากหลังที่น่าอึดอัดสำหรับวันหยุดพักผ่อนของพวกเขา

“มันน่าเศร้าที่ได้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศ ไกด์ของเราบอกเราว่าชาวมุสลิมอันตรายและไม่ได้เป็นชาวพม่า” นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสรายหนึ่ง กล่าวถึงวิกฤติที่ก่อความตึงเครียดทางศาสนาในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

นอกจากการท่องเที่ยวที่ซบเซาลงแล้ว ยังมีความหวาดวิตกว่าวิกฤติผู้ลี้ภัยอาจส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศถอยกลับสู่ช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากมองข้ามผ่านเพราะไม่ต้องการสนับสนุนบรรดานายพลที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

แต่ทั้งหมดนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลง หลังกองทัพเริ่มเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2554 ความเคลื่อนไหวที่ส่งผลให้ตะวันตกคลายมาตรการคว่ำบาตร ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาชมภูมิประเทศที่ไม่เคยถูกแตะต้องแห่งนี้

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยว ทางการหวังให้ยอดนักท่องเที่ยวรายปีขยายตัวขึ้นสองเท่าเป็น 7.5 ล้านคนในปี 2563

แต่เมื่อมาถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม รัฐยะไข่กลับลุกเป็นไฟ

ทหารพม่าอ้างเหตุนักรบโรฮิงญาโจมตีจุดตรวจ ในการดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา จนสหประชาชาติกล่าวว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นเปรียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม

ชาวโรฮิงญามากกว่าครึ่งล้านชีวิตได้หลบหนีไปบังกลาเทศในช่วง 2 เดือน พร้อมคำกล่าวหาว่ากองกำลังทหารและม็อบชาวพุทธก่อเหตุสังหาร ข่มขืน และวางเพลิงหมู่บ้าน

มะรัคอู เมืองโบราณและแหล่งโบราณสถานอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ขัดแย้งในรัฐยะไข่ คนท้องถิ่นเผยว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติ สถานที่แห่งนี้ร้างนักท่องเที่ยว จากที่ปกติจะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอยู่ทั่วบริเวณ

“ทุกคนที่พึ่งพาการท่องเที่ยวตอนนี้ต่างว่างงาน” อ่อง โซ มี้น ไกด์ชาวพม่า กล่าว

ความคิดเห็น

comments