นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า เดินทางเยือนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในรัฐยะไข่เป็นครั้งแรกในวันพฤหัสบดี (2 พฤศจิกายน) นับตั้งแต่เกิดเหตุกองกำลังทหารพม่าเปิดปฎิบัติการปราบปรามรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากว่า 600,000 คนต้องหนีตายไปยังบังกลาเทศ
รอยเตอร์รายงานว่า ซูจีเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ทหารที่เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.
ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่ากล่าวว่า ซูจีได้เดินทางไปยังเมืองหม่องดอ พื้นที่ปฎิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ที่ทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 600,000 แสนคน หนีตายข้ามแดนไปยังบังกลาเทศนับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
“เธอจะเดินทางไปที่เมืองหม่องดอ แต่ผมไม่สามารถให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มได้” ซอ เต กล่าว
ซูจียังไม่เคยเดินทางเยือนรัฐยะไข่ตั้งแต่เข้าบริหารประเทศเมื่อปีก่อนหลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2558 ประชากรส่วนใหญ่ของเมืองหม่องดอเป็นชาวมุสลิมจนกระทั่งวิกฤติผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น
พม่าถูกต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและถูกกล่าวหาว่าดำเนินการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งทางการพม่าปฏิเสธ
ตามการรายงานของผู้สื่อข่าว มีผู้ร่วมเดินทางไปกับซูจีประมาณ 20 คน ที่รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ
“บนถนนที่มีผู้คนรวมตัวกัน ซูจีจะหยุดรถและพูดคุยกับทุกคน” คริส เลวา จากโครงการอาระกัน กล่าว
“ซูจีกล่าวเพียง 3 สิ่งกับประชาชนว่า พวกเขาควรมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข รัฐบาลพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกเขา และพวกเขาไม่ควรทะเลาะเบาะแว้งกัน” คริส เลวา กล่าว
ซอ ซอ นักธุรกิจที่เคยถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรยังร่วมเดินทางไปกับนางอองซานซูจีในครั้งนี้ด้วย
ซูจีได้ริเริ่มโครงการที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูและตั้งถิ่นฐานใหม่ในรัฐยะไข่เมื่อเดือนก่อน และเรียกร้องให้บรรดานักธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้
ซูจีให้คำมั่นว่าผู้ลี้ภัยที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาศัยอยู่ในพม่าจะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับหากมีหลักฐานยืนยันตัวเป็นชาวพม่า ในขณะที่ชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดถูกทางการพม่ายึดบัตรแสดงตัวตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งในปี 2558 ที่ผ่านมา
ขณะที่ซูจีเคยกล่าวปราศัยก่อนหน้านี้ระบุว่าความรุนแรงในพื้นที่ยุติลงตั้งแต่วันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา แต่ขณะที่การเผา และโจมตีชาวโรฮิงญายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาวโรฮิงญายังคงหนีตายข้ามแดนไปยังบังกลาเทศอย่างต่อเนื่องกระทั้งคืนก่อนที่ซูจีจะเดินทางเยือนดินแดนแห่งนี้การอพยพก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการเจรจาหารือกับทางการบังกลาเทศยังไม่นำไปสู่ข้อตกลงเกี่ยวกับกระบวนการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ ที่พบว่ามีความซับซ้อนมากขึ้นเพราะชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองในพม่า
ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ซูจีโดยสารเฮลิคอปเตอร์ทหารที่เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านในเมืองหม่องดอ เขตพื้นที่ที่มีผู้คนอพยพหลบหนีมากที่สุด