สำนักงานพลังงานจังหวัดกระบี่ กระทรวงพลังงาน เดินหน้า โครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล ผ่านการส่งเสริมการใช้เตาประหยัดพลังงานที่ช่วยประหยัดการใช้เชื้อเพลิงก๊าซหุงต้ม ลดรายจ่ายด้านพลังงาน ชุมชนมีรายได้มีเพิ่มขึ้น และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ที่กลุ่มพลังสตรีบ้านเขาตั้ง ม.8 ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ หรือกลุ่มผลิตกล้วยฉาบหิน นายศิวเรศ ธรรมวิเศษ พลังงานจังหวัดกระบี่ และคณะ เทศบาลตำบลกระบี่น้อย สื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมการใช้ พลังงานทางเลือกในการผลิต กล้วยหินฉาบ และช่วยกันประชาสัมพันธ์ การนำ พลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิตกล้วยหินฉาบ สร้างรายได้และกำไรให้แก่กลุ่มผู้ผลิต ส่งเสริมให้กลุ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
กลุ่มพลังสตรีบ้านเขาตั้ง ได้ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มแม่บ้านภายในหมู่บ้าน ในการผลิตกล้วยหินฉาบ เพื่อส่งขายในหมู่บ้าน ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาชุมชนจังหวัดกระบี่ ในการเข้ามาส่งเสริมการขยายการตลาด ส่งเสริมการแปรรูปและการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและสวยงาม ในการสร้างรายได้และเพิ่มยอดขายแก่การผลิต โดยปัจจุบันกลุ่มพลังสตรีบ้านเขาตั้ง มีจำนวน 18 คน โดยมีนางมณฑา จันทร์ดวงเป็นประธานกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันผลผลิตนั้นได้นำขายในตลาด ทั้งค้าส่ง ค้าปลีก ร้านกาแฟ และร้านค้าภายในสนามบินของจังหวัดกระบี่ด้วย
นางมณฑล จันทร์ดวง ประธานกลุ่มพลังสตรีบ้านเขาตั้ง กล่าวว่าที่ผ่านมามีต้นทุนในการผลิตใช้จ่ายเป็นเงินสูงถึง 3,750 บาทต่อเดือน พลังงานจังหวัดกระบี่ได้เข้ามาส่งเสริมให้ใช้เตาพลังงานทดแทนจากเตาที่ใช้ก๊าซหุงต้มหรือ LPG มาเป็น “เตามณฑล” ที่สามารถใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงทดแทน จะใช้ประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อเดือน หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายจากฝืนเพียง 1,200 บาท ซึ่งทำให้กลุ่มของตนนั้นสามารถลดรายจ่ายได้เป็นจำนวนมากโดยสามารถประหยัดเงินได้สูง 2,550 บาท/เดือน
นายศิวเรศ กล่าวว่า การดำเนินโครงการ ฯ ครั้งนี้ เป็นการขยายผลจากที่สำนักงานพลังงานจังหวัดกระบี่ ได้ดำเนินงานโครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล ประเภทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/otop ประจำปี 2559 และในปี 2561 สำนักงานพลังงานจังหวัดกระบี่ได้ขยายผลความสำเร็จไปยัง วัด มัสยิด และกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ จำนวน 82 เตา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดกระบี่ จำนวน 32 เตา และจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 50 เตา โดยเน้นการมีส่วนร่วมการจัดรูปแบบด้านการผลิต การใช้ และการแก้ปัญหา เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองทางด้านพลังงานตามศักยภาพด้านพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสามารถผลิตพลังงานขึ้นได้เอง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในระยะยาวอีกด้วย
ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่