เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านนายก ให้ยกร่างใหม่พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ให้สัดส่วนภาคปชช.เท่ากับภาครัฐ มีกลไกรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง พร้อมปักหลักชุมนุม 7 วันรอคำตอบที่น่าพอใจ ด้านกลุ่มนักวิชาการโผล่ยื่นหนังสือ หนุนรัฐสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชี้ข้อมูลถูกบิดเบือน หลายชาติก็สร้าง
วันพุธ (6 ธันวาคม) เมื่อเวลา 13.30 น.นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่างราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. …
โดยกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ จำนวน 150 คน อาทิ ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โครงการเหมืองแร่โปแตซ อุดรธานี เดินทางมายังศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้หยุดแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับแก้ไข เพิ่มเติม ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลักดันร่างกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างรีบร้อน โดยที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของประชาชน ที่พยายามทักท้วงข้อบกพร่อง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหากระบวนการทำ EIA และ EHIA แต่กลับเอื้อให้โครงการ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
โดยระบุว่าไม่คัดค้านที่จะมีกฎหมายดังกล่าว แต่เจตนารมณ์ในกฎหมายต้องมีกลไกในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ยืนยันเราจะปักหลักชุมนุมค้างคืนเพื่อรอฟังคำตอบที่พอใจก่อน เนื่องจากเราได้ขออนุญาตชุมนุมบริเวณบนฟุตบาทหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลแล้วเป็นเวลา 7 วันตั้งแต่วันที่ 6-12 ธ.ค.นี้
จากนั้นเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานก.พ.กลุ่มชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำโดยนายภิญโญ มีชำนะ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา
โดยนายภิญโญ กล่าวว่า พวกตนประกอบด้วยคณาจารย์ จำนวน 43 คน ได้ศึกษาเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเดินทางไปดูงานมาหลายประเทศ เห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนที่ประชาชนรับทราบข้อมูลในปัจจุบัน และกลุ่มที่ออกมาต่อต้านให้ข้อมูลบิดเบือน
โดยเฉพาะที่อ้างว่าหลายประเทศเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเพียงการยกตัวอย่างแค่บางประเทศเท่านั้น เพราะความเป็นจริงหลายประเทศยังใช้โรงไฟฟ้าถ่านและกำลังจะก่อสร้างเพิ่มด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เราต้องยอมรับคือพื้นที่ภาคใต้มีพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากไม่สร้างโรงไฟฟ้าแล้วจะทำอย่างไร เราจึงขอสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการตามความจำเป็น