ชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างน้อย 6,700 คนถูกสังหารใน 30 วันแรกของการกวาดล้างของทหารพม่าในรัฐยะไข่ที่เริ่มต้นเมื่อ 25 สิงหาคม โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบรวมอยู่ด้วยถึง 730 คน พบบางส่วนถูกเผาทั้งเป็นในบ้านของตัวเอง ตามการเปิดเผยขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF)
ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงสุดจากความรุนแรงจากการปราบปรามทางทหารของพม่าที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม จนทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยขนานใหญ่ที่มีชาวโรฮิงญากว่า 647,000 คน(ตัวเลขถึงวันที่ 12 ธันวาคม)หนีตายออกจากบ้านเรือนของตัวเองในรัฐยะไข่ของพม่า
องค์การสหประชาชาติ เรียกปฏิบัติการทางทหารของพม่าว่าเป็น “การลบล้างชาติพันธุ์” ต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน MSF ได้ทำการตรวจสอบการเสียชีวิตของชาวโรฮิงญา 6 กรณีที่ต่างกันในค่ายลี้ภัยเมือง Cox’s Bazar, ของบังกลาเทศ โดยมีการสำรวจผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาทั้งหมด 608,108 คน โดยพบว่า 503,698 คนหนีมาจากพม่าหลัง 25 สิงหาคม
พบอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้อพยพชาวโรฮิงญาอยู่ที่ 8 ต่อ 10,000 คน ต่อ วัน ซึ่งเท่ากับ 2.26 ของกลุ่มตัวอย่าง หากผลสำรวจดังกล่าวเป็นจริง เทียบสัดส่วนจำนวนชาวโรฮิงญาที่หนีตายเข้ามาในบังกลาเทศทั้งหมดจะพบว่ามีชาวโรฮิงญาที่ถูกสังหารอยู่ที่ระหว่าง 9,425 คน – 13,759 คน ในช่วง 31 วันแรกของความรุนแรง และจะพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถูกสังหารราว 1,000 คน
การสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตเหล่านี้อย่างน้อย 71.7% เป็นผลมาจากความรุนแรง
“ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 6,700 คนในการประเมินอย่างรอบคอบที่สุดถูกสังหารรวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 730 คน” MSF ระบุเมื่อวันอังคาร (12 ธันวาคม)
รายงานดังกล่าวออกมาจากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 11,426 คนในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 30 วันแรกของการปราบปรามรุนแรงทางทหารของพม่า
“เราพบและถามผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงในพม่าที่ตอนนี้กำลังพักพิงอยู่ในค่ายอันแออัดละสกปรกในบังกลาเทศ” ดร.ซิดนีย์ หว่อง ผู้อำนวยการทางการแพทย์ไร้พรมแดน ระบุ
“สิ่งที่เราเปิดเผยน่าตกใจทั้งในแง่ของจำนวนคนที่รายงานว่าสมาชิกครอบครัวพวกเขาเสียชีวิตจากความรุนแรงดังกล่าว และวิธีการอันโหดร้ายที่ทำให้พวกเขาเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส”
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเล่าถึงเรื่องราวที่สอดคล้องกันว่า กองกำลังความมั่นคง และกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธรัฐยะไข่ขับไล่พวกเขาออกจากบ้านด้วยปืน การข่มขืน และการวางเพลิง ที่ทำให้หลายร้อยหมู่บ้านกลายเป็นเถ้าถ่าน
เมื่อต้นเดือนนี้ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สอิ๊ด รออัด อัล ฮุสเซน กล่าวว่า การกวาดล้างที่นำโดยกองทัพดูเหมือนจะเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลายองค์ประกอบ
การสำรวจของ MSF ระบุว่า 69 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตจากการถูกยิง, 9 เปอร์เซ็นต์ถูกเผาทั้งเป็นภายในบ้าน ขณะที่ 5 เปอร์เซ็นต์ถูกทุบตีจนตาย
การสำรวจยังพบว่า เด็กชาวโรฮิงญาอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 59 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตหลังจากถูกยิง, 15 เปอร์เซ็นต์ ถูกเผาทั้งเป็นในบ้าน, 7 เปอร์เซ็นต์ ถูกตีจนตาย และ 2 เปอร์เซ็นต์ตายจากทุ่นระเบิด
“ปัจจุบันคนยังคงมีชาวโรฮิงญาหนีตายเข้ามาในบังกลาเทศ และบรรดาผู้ที่สามารถข้ามพรมแดนมาได้ยังคงยืนยันว่าต้องเผชิญกับความรุนแรงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา” ดร.ซิดนีย์ หว่องกล่าวเสริม
“กลุ่มช่วยเหลือที่เป็นอิสระจำนวนน้อยมากที่สามารถเข้าถึงพื้นที่เมือง Maungdaw รัฐยะไข่ เราเป็นห่วงตัวเลขของชาวโรฮิงญาที่ยังคงอยู่ที่นั่น”
MSF สรุปว่าดังนั้นการลงนามในข้อตกลงเพื่อการส่งกลับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาระหว่างรัฐบาลพม่าและบังคลาเทศที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ ชาวโรฮิงญาไม่ควรถูกบังคับให้กลับ และความปลอดภัย รวมทั้งสิทธิของพวกเขาจะต้องได้รับการรับรองก่อนที่แผนดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง