UN อ้อนพม่า-บังกลาเทศทบทวนแผนส่งโรฮิงญากลับ ย้ำต้องปลอดภัย

หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ และกลุ่มต่างๆ ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนแผนที่จะส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่า ท่ามกลางความหวาดวิตกเกี่ยวกับการบังคับส่งกลับประเทศ และการที่หน่วยงานช่วยเหลือไม่สามารถดำเนินงานเพื่อรับประกันความปลอดภัยได้ ขณะที่บังกลาเทศระบุว่าคืนวันจันทร์ยังคงเห็นควันจากการเผาไหม้บางอย่างขึ้น และมีเสียงปืนที่ชายแดนในฝั่งพม่า

การเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อบังกลาเทศเลื่อนกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่า เนื่องจากกระบวนการรวบรวม และตรวจสอบรายชื่อที่ถูกส่งกลับมานั้นไม่สมบูรณ์

“เพื่อให้กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศดำเนินไปอย่างถูกต้อง อย่างยั่งยืน และปฏฺบัติได้จริง คุณจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอีกหลายประการ” ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว โดยอ้างถึงประเด็นปัญหา เช่น สิทธิการเป็นพลเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 688,000 คน และชาวฮินดูโรฮิงญาอีกหลายร้อยคน หลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปฎิบัติการทางทหารของพม่า ที่ชาวโรฮิงญาระบุว่า มีการสังหาร ปล้นทรัพย์สินและข่มขืน เกิดขึ้นในพื้นที่

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การเลื่อนการส่งกลับประเทศเป็นเรื่องดี และสหรัฐฯวิตกเกี่ยวกับการขาดการเข้าถึงของหน่วยงานของสหประชาชาติ

“ประชาชนไม่สามารถถูกบังคับให้กลับบ้านได้หากพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว

ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะตั้งกลไกการติดตามตรวจสอบในรัฐยะไข่สำหรับผู้ที่เดินทางกลับ แต่เวลานี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ไม่มีความสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี และปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวได้

พม่า และบังกลาเทศเห็นพ้องเมื่อต้นเดือนที่จะดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศให้เสร็จสิ้นภายในสองปี พม่าระบุว่า ได้สร้างศูนย์รับผู้ลี้ภัย 2 แห่ง และค่ายพักชั่วคราวอีก 1 แห่ง ใกล้พรมแดนในรัฐยะไข่ เพื่อรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับชุดแรก

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า บังกลาเทศควรระงับแผนทั้งหมดเนื่องจากการคุกคามความมั่นคงและสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกัน แผนการส่งกลับประเทศยังสร้างความหวาดวิตกในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ที่หลายคนอาจถูกบังคับให้เดินทางกลับแม้ยังขาดการรับประกันเกี่ยวกับความปลอดภัย

“เราไม่ได้ทำอะไรรีบร้อน เรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเขาจะกลับบ้านเกิดได้อย่างปลอดภัย และยั่งยืน เราจะไม่ส่งใครไปจนกว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพวกเขา” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ กล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ในฝั่งพม่า ระบุว่า พวกเขาพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

“เราอยู่ที่ชายแดนพร้อมที่จะรับผู้ลี้ภัยหากบังกลาเทศพาพวกเขามาให้เรา” กอ ติน รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวต่อนักข่าวในกรุงเนปีดอ

กอ ติน ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศนั้น พม่าเตรียมพร้อมที่จะรับคน 300 คนต่อวัน และดำเนินการ 5 วันต่อสัปดาห์ หลังจากผ่านไป 3 เดือน จึงจะพิจารณาว่าจะสามารถเพิ่มขีดการดำเนินการได้หรือไม่

ด้านเจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนบังกลาเทศ ระบุว่า เห็นเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ในหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันจันทร์ (22) ก่อนถึงกำหนดวันที่บังกลาเทศจะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับรัฐยะไข่ตามข้อตกลงกับพม่า

เจ้าหน้าที่บังกลาเทศเชื่อว่า บ้านเรือนที่เกิดเพลิงไหม้ช่วงข้ามคืนเป็นของชาวโรฮิงญา พื้นที่ชายแดนที่กองกำลังทหารพม่าควบคุมอยู่ ส่วนเจ้าหน้าที่อีกนายหนึ่งเผยว่า ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดก่อนที่เปลวไฟปรากฏขึ้นจากหมู่บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันเหตุการณ์ได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถูกควบคุมการเข้าถึงอย่างเข้มงวด

อาบุล เนเซอ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา อายุ 42 ปี ที่อาศัยอยู่ใกล้พรมแดน ระบุว่า เห็นเปลวเพลิงและกลุ่มควัน

“พวกเขากำลังพยายามที่จะส่งข้อความบอกพวกเรา พวกเขากำลังพยายามทำให้เรากลัวจนไม่กลับไป” เนเซอ กล่าวถึงกองกำลังทหารพม่า

ภาพถ่ายเพลิงไหม้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และหลายคนโทษทหาร

“เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นตั้งใจที่จะทำลายร่องรอยบ้านของชาวโรฮิงญาที่เหลืออยู่เพื่อที่จะไม่มีใครในพวกเราสามารถกลับไปที่หมู่บ้านได้” นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญา กล่าว

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า หากไร้บ้าน โรฮิงญาที่เดินทางกลับตามข้อตกลงจะถูกปฏิเสธการเข้าถึงที่ดินของบรรพบุรุษ และถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น

ความคิดเห็น

comments