ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ รับข้อเสนอแนะดูแลป่าต้นน้ำ ระบุ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ขาดแคลนน้ำ และคุณภาพน้ำ
พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการปฏิรูปทรัพยากรน้ำ ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ มีทั้งหมด 100 มาตรา กำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 42 หน่วยงาน และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 38 ฉบับ พร้อมกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางบริหารงานให้เกิดความเป็นเอกภาพ มีอำนาจควบคุม กำกับ ติดตามและประเมินผล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเสนอให้มีองค์กรระดับพื้นที่ คือ คณะกรรมการลุ่มน้ำ
ซึ่งเบื้องต้นมี 25 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย บุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ทำงานร่วมกันสะท้อนความต้องการของภาคประชาชนในเขตลุ่มน้ำ เชื่อมโยงการทำงานกับ กนช. ให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. ได้พิจารณา แล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. เป็นกฎหมายที่สําคัญ และมีผลกระทบต่อ วิถีชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นจึงจําเป็นต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ ประกอบด้วย ข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. เป็นกฎหมายแม่บท ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้อย่างแท้จริง ประกอบกับ ตามมาตรา 77 แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน คณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงได้มีมติเดินทางไปศึกษาดูงานและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนใหญ่ คือ ปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ปัญหาขาดแคลนน้ำ และปัญหาคุณภาพน้ำ ซึ่งคณะทำงานผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้มอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้จัดตั้งศูนย์สารสนเทศการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวมข้อมูลสารสนเทศด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และบูรณาการแผนงานต่างๆ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ขับเคลื่อนองค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำและพัฒนาศักยภาพพื้นที่ และสืบสานการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ
ในปีงบประมาณ2561 มีแผนงานขยายและปรับปรุงห้องประชุมเพื่อรองรับการทำงานของศูนย์ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและถอดแบบประมาณการ อีกทั้งการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในปีที่ผ่านมา (เน้นปัญหาน้ำท่วม) ได้มีการปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการเสนอแนะได้มีการเสนอให้ดูแลป่าต้นน้ำที่สำคัญของลุ่มน้ำในพื้นที่ รวมทั้งการเพิ่มเติมในส่วนของที่ดินที่อยู่ติดกับแหล่งน้ำ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้จะมีการพบบ่อยเมื่อเวลาเกิดปัญหาน้ำหลากในพื้นที่
ที่มา : สทท.ยะลา