โรฮิงญาที่หนีตายจากพม่าไปอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ไร้ผู้ครอบครองตามแนวชายแดนระหว่างพม่า และบังกลาเทศ ระบุว่าจะยอมรับการส่งกลับประเทศต่อเมื่อได้กลับไปยังหมู่บ้านเดิมของตนเองเท่านั้น แกนนำท้องถิ่นกล่าวในวันอาทิตย์ (18) และปฏิเสธการย้ายไปอยู่ในค่ายพักที่พม่าทำไว้รองรับด้วยเหตุวิตกว่าจะถูกจำกัดขอบเขตเป็นระยะเวลานาน ด้านพม่าบอกจะไม่ให้อยู่ในค่ายไปจนตายหรอก
โรฮิงญาราว 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีตายจากการปราบปรามรุนแรงทางทหารพม่าไปยังบังกลาเทศที่เริ่มต้นตั้งแต่ 25 สิงหาคม ที่สหประชาชาติระบุว่าปฎิบัติการโหดดังกล่าวเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา
โดยผู้อพยพชาวโรฮิงญาชุดแรกตั้งแต่เริ่มต้นปฎิบัติการทางทหาร โรฮิงญาหลายพันคนได้หนีตายไปอาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ตั้งอยู่นอกรั้วลวดหนามที่กั้นเขตแดนไว้อย่างคร่าวๆ ระหว่างพม่าและบังกลาเทศ โดยพึ่งอาหารที่ได้รับแจกจาก NGO
เจ้าหน้าที่พม่ากำลังกดดันอย่างหนักให้โรฮิงญาเหล่านี้ยอมกลับพม่า ทั้งการส่งระดับรัฐมนตรีมาถึงพื้นที่เพื่อข่มขู่ว่าหากชาวโรฮิงญาไม่ออกจากพื้นที่จะต้องเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิด และตามมาด้วยการเสริมกำลังทหาร ยิงปืนขู่บริเวณพรมแดนดังกล่าว ส่งอาวุธหนักเข้าประจำการ จนถูกทางการบังกลาเทศยื่นประท้วง
แม่จะถูกกดดันอย่างหนัก แต่แกนนำชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยกล่าวกับนักข่าวว่า พวกเขาจะไม่ก้มหัวต่อแรงกดดันที่จะให้พวกเขาเดินทางกลับพม่าหรือย้ายเข้าไปในบังกลาเทศ
“เราไม่มีความตั้งใจที่จะเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ เราไม่ใช่เบงกาลี เราเป็นพลเมืองพม่า” ดิล โมฮัมหมัด อายุ 51 ปี กล่าวกับนักข่าวผ่านรั้วลวดหนามจากพื้นที่ไร้ผู้ครอบครอง
ดิล กล่าวว่า ชาวบ้านราว 6,000 คน จะกลับไปพม่าก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับการรับรองความปลอดภัย การชดเชยสำหรับบ้านที่ถูกเผาในการปราบปรามของทหาร และได้รับอนุญาตให้ตั้งรกรากในหมู่บ้านเดิมของตัวเอง
“เราไม่ต้องการกลับไปอยู่ที่ค่ายพักที่เจ้าหน้าที่พม่าสร้างขึ้นสำหรับดำเนินการกับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับ” ดิล กล่าว
ความหวาดกลัวเกิดขึ้นต่อค่ายพักและหมู่บ้านที่กำลังสร้างขึ้นใหม่สำหรับผู้เดินทางกลับนั้นจะกลายเป็นศูนย์กักกันระยะยาว
เช่นเดียวกับชาวโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน ที่ถูกกักตัวอยู่ในค่ายพักผู้พลัดถิ่นภายในยะไข่จากเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 และบรรดาโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายดังกล่าวถูกจำกัดความเคลื่อนไหวห้ามทำงาน และห้ามออกจากพื้นที่
ขณะที่ เย ตุ๊ต ผู้บริหารเมืองหม่องดอ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่าในยุคนายพลเต็ง เส่ง อ้างว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เดินทางกลับประเทศท้ายที่สุดจะตั้งรกรากใกล้กับหมู่บ้านเดิมของตัวเองหลังพักอยู่ในค่ายได้ระยะหนึ่ง
“ผมไม่สามารถขอให้พวกเขาอยู่ที่ค่ายได้ตลอดไป เพราะเราไม่สามารถจัดการเช่นนั้นได้ เราไม่มีวิสัยทัศน์หรือความตั้งใจใดๆ ที่จะเก็บพวกเขาไว้เป็นระยะเวลานาน รัฐบาลจะส่งพวกเขากลับไปยังหมู่บ้านเดิมของพวกเขาหรือพื้นที่ใกล้ๆ” เย ตุ๊ต กล่าว
พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากำลังพยายามจะลบความสัมพันธ์ของโรฮิงญากับรัฐยะไข่ และยืนยันว่าการปราบปรามของทหารมุ่งเป้าโจมตีที่กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมโรฮิงญา