อเมริกันนับล้านเดินขบวน ร้องแก้กม.คุมอาวุธปืน

ชาวอเมริกันนับล้านลงมาเต็มท้องถนนทั่วอเมริกาเมื่อวันเสาร์ (24 มีนาคม) นำโดยกลุ่มนักเรียนที่รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมที่ฟลอริดาเมื่อวันวาเลนไทน์ ที่มีผู้เสียชีวิต 17 คน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมเรียกร้องการควบคุมอาวุธปืนครั้งใหญ่ที่สุดในอเมริกาในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ

ผู้จัดการชุมนุม “มาร์ช ฟอร์ เอาร์ ไลฟ์ส” เผยว่า นอกจากที่วอชิงตันแล้ว ยังมีการชุมนุมขนาดใหญ่ในแอตแลนตา บอสตัน ชิคาโก ดัลลัส เดนเวอร์ ลอสแองเจลีส ไมอามี มินนิอาโปลิส ซีแอตเติล และอีกหลายเมือง รวมแล้วมากกว่า 800 จุด

บิล เดอ บลาสิโอ นายกเทศนตรีนิวยอร์ก ระบุว่า มีผู้ร่วมชุมนุมในมหานครแห่งนี้ถึง 175,000 คน และทวิตว่า “นักเรียนเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงอเมริกา”

การประท้วงขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในวอชิงตัน โดยแกนนำเปิดเผยกับ NBC News ว่า น่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 800,000 คน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมเรียกร้องการควบคุมอาวุธปืนครั้งใหญ่ที่สุดในอเมริกานับจากการชุมนุมมิลเลียน มัม มาร์ชเมื่อปี 2000

เวทีชุมนุมใหญ่ในวอชิงตันตั้งอยู่ใกล้อาคารรัฐสภา และผู้ปราศรัยเตือนสมาชิกรัฐสภาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเพิ่มมาตรการควบคุมอาวุธปืน โดยประเด็นเรียกร้องสำคัญของการชุมนุมครั้งนี้คือ ห้ามการขายไรเฟิลจู่โจมแบบที่ใช้ในเหตุสังหารหมู่ที่ฟลอริดาเดือนที่แล้ว รวมทั้งซองบรรจุกระสุนจำนวนมาก และการตรวจสอบประวัติผู้ที่ต้องการซื้อปืน

ผู้จัดการเดินขบวนยังเผยแพร่ลิงก์เพื่อให้ผู้สนใจลงทะเบียน และโหวตบนเว็บไซต์ MarchForOurLives.com เพื่อทำให้การเคลื่อนไหวนี้เปลี่ยนเป็นพลังสำคัญทางการเมือง

ป้ายประท้วงจำนวนมากพุ่งเป้าโจมตีสมาชิกรัฐสภาที่ได้เงินสนับสนุนจากสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ให้คัดค้านการออกกฎหมายเข้มงวดในการควบคุมอาวุธปืน

การชุมนุมในวอชิงตันเปิดงานด้วยการขึ้นเวทีขับขานเพลง “ไรส์ อัพ” ของแอนดรา เดย์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงจากศิลปิน อาทิ เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ที่แม่ พี่ชาย และหลานชายวัย 7 ขวบ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

แต่ช่วงเวลาที่บีบหัวใจที่สุดคือการปราศรัยของนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาสในปาร์คแลนด์ ฟลอริดา ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุนิโคลัส ครูซ วัย 19 ปี กราดยิงสังหารนักเรียน 14 คน รวมทั้งครู และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนอีก 3 คนเมื่อวันที่ 14 เดือนที่แล้ว

เอมมา กอนซาเลซ วัย 17 ปี อ่านชื่อเหยื่อทั้ง 17 คนและยืนไว้อาลัยระหว่างการปราศรัยนาน 6 นาที 20 วินาที เท่ากับเวลาที่เกิดเหตุสังหารหมู่ และปิดท้ายว่า “สู้เพื่อชีวิตของคุณเองก่อนที่จะต้องให้คนอื่นมาจัดการแทน ออกมาแสดงพลังและใช้สิทธิ์ของคุณ”

ที่นิวยอร์ก พอล แมคคาร์ทนีย์ อดีตสมาชิกวงบีทเทิล ร่วมเดินขบวนและปราศรัยโดยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่จอห์น เลนนอน เพื่อนร่วมวง ถูกสังหารเมื่อเดือนธันวาคม 1980 พร้อมแสดงความหวังว่า นับจากนี้เหตุการณ์กราดยิงจะไม่ถูกปล่อยผ่านเหมือนที่แล้วมา

การชุมนุมครั้งนี้ได้รับการยกย่องและการสนับสนุนทางการเงินจากคนดังนับสิบ อาทิ จอร์จ คลูนีย์ นักแสดงชื่อดัง และอามาล ภรรยาที่เป็นนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ที่บริจาคเงิน 500,000 ดอลลาร์ และบอกว่า จะไปร่วมชุมนุมที่วอชิงตัน

นอกจากนั้น ทีมอเมริกันฟุตบอล นิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ยังส่งเครื่องบินพานักเรียนของสโตนแมน ดักลาสและครอบครัวไปวอชิงตัน

การชุมนุมเรียกร้องการควบคุมอาวุธปืนยังจัดขึ้นทั่วโลก อาทิ ลอนดอน เอดินเบิร์ก มอริเชียส สต็อกโฮล์ม ซิดนีย์ รวมถึงในหลายเมืองในแคนาดาที่เพิ่งบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว อาทิ การตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืนที่รัดกุมมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อยู่ที่ฟลอริดา ขณะที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่วอชิงตัน

อย่างไรก็ดี ลินด์เซย์ วอลเตอร์ส โฆษกทำเนียบขาว แถลงชื่นชมความกล้าหาญของนักเรียนในการใช้สิทธิ์ในการแสดงออกตามบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า การทำให้เยาวชนปลอดภัยเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของประธานาธิบดี

วอลเตอร์สยังระบุว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23) กระทรวงยุติธรรมเพิ่งเสนอแก้ไขกฎให้มีการแบน “บั๊มสต็อก” หรืออุปกรณ์เสริมที่ทำให้ปืนกึ่งอัตโนมัติกลายเป็นปืนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ นอกจากนั้น ทรัมป์ยังลงนามกฎหมายงบประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืน และการช่วยเหลือเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในโรงเรียน

ขณะเดียวกัน มีการชุมนุมสนับสนุนสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในวอชิงตันเช่นเดียวกัน ตอกย้ำภาพความขัดแย้งรุนแรงของสังคมอเมริกัน

คอนเนอร์ ฮัมฟรีย์ เด็กนักเรียนวัย 16 ปี จากแคลิฟอร์เนียที่บอกว่า ตนเองมีปืนสำหรับการยิงในสนามฝึกและล่าสัตว์และใช้อย่างมีความรับผิดชอบ แสดงความเห็นว่า “ปืนไม่ได้ฆ่าคน คนต่างหากที่ฆ่ากันเอง” เขายังเห็นด้วยกับข้อเสนอของทรัมป์ หลังเหตุสังหารหมู่ที่ปาร์คแลนด์ว่า ควรติดอาวุธให้ครูในโรงเรียน

ความคิดเห็น

comments