เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ เผยว่า พม่าได้อนุมัติรับรองชาวโรฮิงญาจำนวนเพียงไม่ถึง 10% ของชาวโรฮิงญาราว 8,000 คน ที่ยินยอมกลับพม่า แต่จนถึงขณะนี้พม่ากลับยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่ากระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าซึ่งล่าช้ามานานหลายเดือนแล้วนั้นจะเริ่มต้นขึ้น
บังกลาเทศ และพม่าเห็นพ้องกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2017 ที่จะส่งชาวโรฮิงญาราว 700,000 คน กลับพม่า แต่ข้อตกลงยังคงหยุดชะงักอย่างไม่มีกำหนด และยังคงไม่มีความชัดเจนถึงขั้นตอนการเดินทางกลับ และที่พักสำหรับชาวโรฮิงญา
จนถึงเวลานี้ พม่ารับรองผู้ลี้ภัยโรฮิงญาตามรายชื่อที่บังกลาเทศตรวจสอบ แล้วส่งมาให้ราว 8,000 คน แต่พม่ารับรองไม่ถึง 600 คน โดยอ้างว่าเกือบทั้งหมดเอกสารไม่สมบูรณ์
โมฮัมหมัด อาบุล คาลาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบังกลาเทศที่กำกับดูแลข้อตกลงการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ กล่าวว่า พม่าไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลา หรือกระบวนการจะสามารถเริ่มต้นขึ้นได้หรือไม่
“ยังไม่มีการระบุวันที่แน่ชัดในตอนนี้” คาลาม กล่าวต่อนักข่าว เมื่อถูกถามว่ากระบวนการจะเริ่มขึ้นเมื่อใด ซึ่งข้อตกลงระหว่างสองประเทศในเบื้องต้นนั้นมีกำหนดเริ่มกระบวนการตั้งแต่เดือนมกราคม
การดำเนินการที่ไม่มีความชัดเจนของพม่าทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความกังวลว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้จะไม่ปลอดภัยเมื่อกลับพม่า
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ผู้ลี้ภัยที่ได้ไฟเขียวให้เดินทางกลับต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ แต่ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากในบังกลาเทศยังคงปฏิเสธที่จะเดินทางกลับพม่า เนื่องจากข้อเรียกร้องต่างๆ ยังคงไม่มีความชัดเจน เช่นเรื่องของสถานความเป็นพลเมือง และที่พักอาศัย
โรฮิงญาถูกกดขี่ข่มเหงมาเป็นระยะเวลายาวนานในรัฐยะไข่ และวงจรความรุนแรงที่บังคับให้พวกเขาต้องอพยพหลบหนีมาบังกลาเทศนั้นจะเกิดขึ้นซ้ำอีก
คาลาม กล่าวว่า บังกลาเทศจะส่งรายชื่อผู้ลี้ภัยอีกชุดหนึ่ง จำนวน 10,000 ชื่อ ให้แก่ฝ่ายพม่าในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้เพื่อให้ฝ่ายพม่าตรวจสอบ และเจ้าหน้าของสองประเทศมีกำหนดพบหารือกันอีกครั้งในเดือน เมษายน เพื่อหารือถึงกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ