กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ประกาศต่อต้านพฤติกรรมก้าวร้าวของรัสเซียในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่นครโทรอนโตของแคนาดา เมื่อวันอาทิตย์ (22 เมษายน) ผู้นำฝรั่งเศสเรียกร้องโลกตะวันตกต้องขวางไม่ให้ปูติน โจมตีระบอบประชาธิปไตย และเผยแพร่ “ข่าวเท็จ” ได้อีก
“กลุ่ม G7 แสดงจุดยืนเป็นหนึ่งในการต่อต้านพฤติกรรมมุ่งร้ายของรัสเซีย” เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยอ้างถึงการที่รัสเซียไม่พยายามสกัดกั้นการใช้อาวุธเคมีโดยกองทัพซีเรีย และยังแทรกแซงการเลือกตั้งในโลกตะวันตก
เจ้าหน้าที่หลายประเทศยืนยันว่า คำแถลงร่วมของรัฐมนตรี G7 ต่อการใช้ถ้อยคำแข็งกร้าววิจารณ์การก่ออาชญากรรมของรัสเซีย
ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสซึ่งจะเริ่มพบปะหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่วอชิงตันในวันจันทร์ (23) ให้สัมภาษณ์ในรายการฟ็อกซ์นิวส์ ซันเดย์ ว่า โลกตะวันตกต้องลุกขึ้นขัดขวางไม่ให้ ปูติน โจมตีระบอบประชาธิปไตย และเผยแพร่ “ข่าวเท็จ” (fake news) ได้อีกต่อไป
“เขาเป็นคนแข็งแกร่งและฉลาด แต่อย่าไปหลงกลเข้าล่ะ เพราะเขาจ้องที่จะแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยของเรา” มาครง กล่าว “ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า เราไม่ควรอ่อนข้อให้กับประธานาธิบดี ปูติน เพราะถ้าเราอ่อนให้เขาเมื่อไหร่ เขาก็จะฉวยโอกาสทันที”
คริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแคนาดาซึ่งเป็นเจ้าภาพในการประชุม ได้เชื้อเชิญกลุ่มรัฐมนตรี G7 และผู้แทนสหภาพยุโรปร่วมรับประทานอาหารกลางวันเพื่อหารือแนวทางแก้ไขวิกฤตการณ์ในยูเครน หลังจากที่รัสเซียประกาศตัวหนุนกลุ่มกบฏที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกของยูเครน
ฟรีแลนด์ แถลงว่า กลุ่ม G7 “ยังคงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลยูเครน และปกป้องระเบียบสากลซึ่งถือว่าหลักอธิปไตยของรัฐและบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ”
รัฐมนตรี G7 ยังกังวลเรื่องที่รัสเซียให้การสนับสนุนแก่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ในสงครามกลางเมืองซีเรีย รวมถึงพยายามใช้สารพิษทำลายประสาทลอบสังหารอดีตสายลับรัสเซียและลูกสาวที่ลี้ภัยไปพำนักอยู่ในอังกฤษ
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ย้ำว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 เมษายน “ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการร่วมอย่างต่อเนื่องเพื่อยับยั้งการใช้อาวุธเคมี และอาจมีการใช้กำลังทหารอีกครั้งหากจำเป็น”
กลุ่มชาติตะวันตกยังเป็นห่วงเรื่องที่ ทรัมป์ ขู่จะฉีกข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ภายในเดือนหน้า หากรัฐบาลยุโรปไม่อนุมัติให้เพิ่มเงื่อนไขควบคุมโครงการขีปนาวุธอิหร่านให้เข้มงวดกว่าเดิม และปิดกั้นศักยภาพของอิหร่านในการเสริมสมรรถนะเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในอนาคต
หุ้นส่วนของสหรัฐฯ ยืนยันว่า แผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA) เป็นกลไกที่ดีที่สุดแล้วที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านครอบครองระเบิดนิวเคลียร์
แหล่งข่าวนักการทูตฝรั่งเศสบอกกับเอเอฟพีว่า “รัฐมนตรี G7 หลายคนโดยการนำของฝรั่งเศสได้เตือนสหรัฐฯ อย่างจริงจังว่าไม่ควรโยนข้อตกลง JCPOA ทิ้งไป”
รัฐบาลยุโรปเต็มใจที่จะเพิ่มเงื่อนไขควบคุมโครงการขีปนาวุธอิหร่านตามที่ ทรัมป์ เรียกร้อง “แต่ต้องไม่สร้างบริบทให้อิหร่านใช้เป็นข้ออ้างถอนตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมา”
รัฐมนตรี G7 ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นยังประกาศสนับสนุนความพยายามของทุกฝ่ายที่จะโน้มน้าวให้ผู้นำเกาหลีเหนือหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยังต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ด้วย