นางอองซาน ซูจีได้ต้อนรับคณะทูตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันจันทร์ (30 เมษายน) ในการเยือนทางการทูตของบรรดานักการทูตระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤติโรฮิงญาขึ้น โดยนักการทูตพยายามกดดันให้พม่ารับกลับผู้ลี้ภัยอย่างปลอดภัย ด้านผบ.สส.พม่าอ้างไม่มีการข่มขืน ทำรุนแรงอย่างที่โรฮิงญากล่าวอ้าง ทั้งที่ก่อนหน้านี้รับความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะโรฮิงญาเรียกร้องสัญชาติ
ในช่วงบ่ายวันจันทร์ (30 เมษายน) ซูจีเป็นประธานในที่ประชุมคณะผู้แทนจากสหประชาชาติ 15 คน ตามการเผยแพร่ของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร ขณะที่นักการทูตสหประชาชาติพยายามที่จะกดดันพม่าอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย
คณะผู้แทนจากสหประชาชาติจะเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ในวันอังคาร (1) ผ่านพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ พื้นที่ที่กองทัพใช้ปฏิบัติการทางทหารปราบปรามชาวโรฮิงญาที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 25 สิงหาคม ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนต้องหนีตายไปยังบังกลาเทศ
การเยือนพม่าของนักการทูตสหประชาชาติเกิดขึ้นหลังจากได้เยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ และได้รับฟังเรื่องราวความเจ็บช้ำจากผู้ลี้ภัยโรฮิงญา เมื่อคณะเดินทางออกจากบังกลาเทศ พวกเขากล่าวว่าจะกดดันพม่าเพื่อให้แน่ใจว่าการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยจะมีความปลอดภัย
“สิ่งนี้เป็นวิกฤติด้านมนุษยธรรมและปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน” ทูตคูเวตประจำสหประชาชาติ กล่าวกับนักข่าวก่อนเดินทางไปกรุงเนปีดอ ของพม่า
ก่อนมาพบซูจีคณะทูตได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ของบังกลาเทศ ในเช้าวันจันทร์ (30) ก่อนเดินทางต่อไปพม่า
บังกลาเทศ และพม่าได้ลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ลี้ภัยตามรายชื่อที่บังกลาเทศส่งให้ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับ
“เราต้องการฟื้นสิทธิการเป็นพลเมืองของเราภายใต้กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา เราต้องการความมั่นคงและการคืนที่ดินและทรัพย์สินที่ถูกยึดไป” แกนนำชุมชนชาวโรฮิงญา กล่าว
โรฮิงญาถูกกดขี่ข่มเหงมานานหลายทศวรรษในพม่า ด้วยทางกลุ่มผู้มีอำนาจของพม่ากล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองของโรฮิงญา และเพิ่งดำเนินการยึดคืนบัตรขาวที่ใช้ในการแสดงตนในการเป็นพลเมืองพม่าไปช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่ซูจีชนะการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นผู้บริหารใหม่ของพม่า
นักวิเคราะห์อิสระในนครย่างกุ้งอธิบายว่าการเยือนครั้งนี้มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ ด้วยรัฐบาลซูจีต้องการแสดงถึงความร่วมมือกับตะวันตกเพื่อเลี่ยงแรงกดดันเพิ่มเติมจากการดำเนินกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ
ด้านผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าปฏิเสธในที่ประชุมกับคณะทูตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่ากองกำลังทหารของตนได้กระทำการข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาตามคำสั่งของเขา
พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย เป็นผู้นำกองทัพที่ถูกสหประชาชาติระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ รวมทั้งข่มขืน และสังหารพลเรือนในปฏิบัติการกวาดล้าง ที่กองทัพระบุว่ามุ่งเป้าไปยังผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา
“กองทัพมีระเบียบวินัยเสมอ และดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวกับคณะทูต UN
ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศรายงานถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ รายงานที่ได้รับการตรวสอบโดยผู้ตรวจสอบความขัดแย้ง แต่พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย อ้างว่า กองกำลังของเขาไม่มีประวัติการล่วงละเมิดทางเพศ
“มันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ตามวัฒนธรรมและศาสนาของประเทศเรา” ผบ.สส.พม่า กล่าว และเสริมว่าใครก็ตามที่พบว่ากระทำความผิดจะถูกลงโทษ
มิน ออง หล่าย ยังย้ำว่าพม่าพร้อมที่จะรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยที่ตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่อาศัยตามข้อตกลงส่งกลับประเทศกับบังกลาเทศ
ทั้งนี้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย เคยกล่าวก่อนหน้านี้ในระหว่างร่วมพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่าที่บริเวณลานกว้างขนาดใหญ่นอกกรุงเนปีดอ ที่มีนายทหารเข้าร่วมมากกว่า 11,000 นายระบุว่า “ความตึงเครียดลุกโหมขึ้นเพราะเบงกาลีเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมือง” โดยเขากล่าวถึงชาวโรฮิงญาด้วยคำว่า “เบงกาลี”