รัฐมนตรีต่างประเทศ และนักการทูตจากชาติสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เริ่มแผนการที่จะระดมการสนับสนุนระหว่างประเทศเพื่อดำเนินการต่อพม่ากรณีวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญา โดยจัดตั้งคณะกรรมการหาเสียงสนับสนุนในระหว่างการพบหารือที่กรุงธากา ของบังกลาเทศ เมื่อวันอาทิตย์ (6 พฤษภาคม)
Yousef bin Ahmed Al-Othaimeen เลขาธิการ OIC กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้เป็นก้าวสำคัญมุ่งไปสู่การยุติวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการอพยพของชาวโรฮิงญาราว 700,000 คน จากพม่าไปยังค่ายลี้ภัยในบังกลาเทศ
Al-Othaimeen กล่าวว่า คณะกรรมการชุดใหม่นี้จะระดมกำลัง และประสานงานการสนับสนุนทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนโรฮิงญา
“สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมาก สิ่งนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมที่ดำเนินขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาให้แก่พี่น้องโรฮิงญาของเรา” เลขาธิการ OIC กล่าว
แถลงการณ์ของ OIC ยังระบุด้วยว่า ปฎิบัติการทางทหารของพม่าเป็น “การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และรุนแรง”
ขณะที่ A.H. Mahmood Ali รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศกล่าวว่า บรรดาชาติสมาชิกได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันสร้างความสามัคคีกับประเทศของเขาในการเผชิญกับการไหลบ่าเข้ามาของชาวโรฮิงญาจนต่อให้เกิดผลกระทบด้านมนุษยธรรม และความมั่นคง
การปราบปรามทางทหารเริ่มขึ้นในรัฐยะไข่ของพม่านับแต่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนหนีตายเข้าไปยังบังกลาเทศ รวมกับชาวโรฮิงญาราว 300,000 คนที่หนีตายจากการปราบปรามก่อนหน้านี้ ทำให้ขณะนี้มีชาวโรฮิงญานับล้านคนอยู่อย่างยากลำบากในบังกลาเทศ
สหประชาชาติ ชี้ว่าการปราบปรามทางทหารของพม่าที่เกิดขึ้นเทียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่กองทัพพม่าอ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการปราบปรามผู้ก่อการร้าย
Al-Othaimeen กล่าวว่า ชาติมุสลิมต้องกดดันประชาคมโลก สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา แต่เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชน์ของพี่น้องของเราในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
บังกลาเทศดำเนินความพยายามทางการทูตอย่างมากที่จะกดดันพม่าให้รับผู้ลี้ภัยกลับประเทศอย่างปลอดภัย ทั้งสองชาติได้ลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้ลี้ภัยรายใดตามการส่งรายชื่อของบังกลาเทศได้เดินทางกลับพม่าเลย
โรฮิงญาถูกกดขี่ข่มเหงนานหลายสิบปีในพม่า ชนชั้นปกครองของพม่ากล่าวหาว่าพวกเขาเป็นแบงกาลี ที่หมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง
แถลงการณ์ OIC ในการประชุมที่กรุงธากา บังกลาเทศ 5-6 พฤษภาคม 2018 (20-21 Sha’aban1439 AH)