สหรัฐฯ ใช้สิทธ์วีโตยับยั้งร่างญัตติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เสนอให้มีมาตรการปกป้องชาวปาเลสไตน์เมื่อวันศุกร์ (1 มิถุนายน) ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ไม่มีชาติใดสนับสนุน ความพยายามของสหรัฐฯ ในการเสนอร่างมติป้ายสีอ้างเหตุรุนแรงในปาเลสไตน์เกิดจากฮามาสเช่นกัน
การโหวตที่ล้มเหลวทั้ง 2 ครั้งมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากอาสาสมัครพยาบาลสาวชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งถูกหน่วยลอบสังหารของกองทัพอิสราเอลยิงเสียชีวิตใกล้ๆ รั้วกั้นพรมแดนฉนวนกาซา ขณะกำลังให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา
การชุมนุมต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลที่ดำเนินมาต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม โดยอิสราเอลได้จัดหน่วยลอบสังหารประจำแนวพรมแดนทำหน้าที่คอยลอบฆ่าชาวปาเลสไตน์ในกลุ่มผู้ประท้วงทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 123 ราย และหลายหมึ่นคนได้รับบาดเจ็บ ส่วนมากเป็นการบาดเจ็บจากกระสุนจริง
นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ออกมาปกป้องอิสราเอลโดยวิจารณ์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า “มีอคติกับอิสราเอล” และรัฐสมาชิก “พร้อมที่จะกล่าวโทษอิสราเอล แต่ไม่ประณามฮามาส”
ผู้แทน 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน ฝรั่งเศส และรัสเซีย ยกมือสนับสนุนร่างญัตติปกป้องชาวปาเลสไตน์ที่คูเวตจัดทำขึ้นในนามกลุ่มประเทศอาหรับ ขณะที่อังกฤษ, เอธิโอเปีย, เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ งดออกเสียง
มันซูร์ อัล-โอไตบี เอกอัครราชทูตคูเวตประจำสหประชาชาติ ชี้ว่า การวีโตของสหรัฐฯ “ทำให้ชาวปาเลสไตน์ท้อแท้สิ้นหวัง” ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น และ “โหมกระพือความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่ง”
ร่างญัตติที่คูเวตจัดทำขึ้นเรียกร้องให้มีการ “รับรองความปลอดภัยและปกป้องพลเรือนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ และขอให้สหประชาชาติจัดทำข้อเสนอว่าด้วยกลไกปกป้องจากนานาชาติ”
ทูตสหรัฐฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าว “ขัดแย้งสิ้นเชิงกับสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ ในกาซา” และเป็นการประณามอิสราเอลฝ่ายเดียว โดยไม่พูดถึงบทบาทของพวกฮามาสที่ควบคุมฉนวนกาซา
“กลุ่มก่อการร้ายฮามาสเป็นตัวการหลักที่จะต้องรับผิดชอบกับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของพลเรือนในกาซา” เธอกล่าวอ้างเพื่อป้ายสีความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอิสราเอลให้เป็นความรับผิดชอบของฮามาส
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ทำการโหวตครั้งที่ 2 ในร่างญัตติของสหรัฐฯ ซึ่งเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ยุติการประท้วงในกาซา และประณามกลุ่มฮามาส แต่ปรากฏว่าผู้แทน 11 ประเทศงดออกเสียง ขณะรัสเซียและอีก 2 ประเทศคัดค้าน
ทั้งนี้ ร่างญัตติจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสมาชิกไม่ต่ำกว่า 9 จากทั้งหมด 15 ประเทศ และต้องไม่มีการวีโตจากสมาชิกถาวรทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ อังกฤษ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา
ผลโหวตที่ออกมาสะท้อนถึงความแตกแยกร้าวลึกภายในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับแนวทางยับยั้งเหตุรุนแรงในฉนวนกาซา ซึ่งทูตประจำสหประชาชาติคนหนึ่งเตือนว่ามันอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงคราม
กลุ่มนักการทูตอาหรับกำลังพิจารณานำร่างญัตติปกป้องชาวปาเลสไตน์เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งสหรัฐฯ จะไม่สามารถใช้สิทธิ์วีโตได้อีก แต่กระนั้นญัตติที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ก็ไม่มีผลต่อการบังคับใช้ญัตติเช่นกัน