พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร(5 มิถุนายน)ถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาลปัตตานีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ ทางกองทัพภาคที่ 4 ก็ดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน หรือการชุมนุมก็ตาม และทุกอย่างจะต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย
“หากกฎหมายให้ใช้ได้ก็ใช้ ไม่ให้ใช้ก็ไม่ใช้ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและยอมรับกติกาด้วย ไม่ใช่ว่ากติกาออกมาแล้วจะไม่ยอมรับ จะมาเดินขบวนอีกไม่ได้ ถ้ามาเดินอีกถือว่าผิดกฎหมาย ก็ต้องจับ และพยายามจะทำให้ผู้ที่สร้างความปั่นป่วนออกไป เพราะถ้ารวมกลุ่มกันขึ้นมาแล้ว มีอะไรเกิดขึ้น สถานการณ์จะเปลี่ยนไปอีกแบบ” แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
กระแสเรื่องฮิญาบของโรงเรียนอนุบาลปัตตานียังคงบานปลาย เพราะล่าสุดมีข่าวในโซเชียลมีเดียว่า มีบางคนเสนอให้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนด้วย เพราะเป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ
ปรากฏว่าแม่ทัพภาคที่ 4 เองก็เคยได้ยินเรื่องนี้เหมือนกัน และบอกว่า ขึ้นกับกฎหมายและกฎของโรงเรียน รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการว่าจะเอาอย่างไร หากสรุปได้อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินไม่ได้ พร้อมทั้งระบุว่า ปมปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีบางกลุ่มพยายามตีเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่จะพยายามทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก และทำเรื่องเล็กให้เล็กกว่าเดิม
สำหรับข้อเสนอให้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนนั้น “ทีมข่าวอิศรา” ได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่ พบว่าไม่ได้มีผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมเสนอให้เปลี่ยน แต่เป็นการยกตัวอย่างของผู้ปกครองทั่วๆ ไปที่คุยกันทางโซเชียลมีเดียด้วยความกังวลว่า หากยอมให้มีการแต่งกายตามหลักศาสนาได้ โดยไม่ต้องเคารพกฎของโรงเรียน ต่อไปอาจมีการเสนอให้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนด้วยก็ได้ ทั้งหมดนี้เป็นการพูดคุยเปรียบเปรยเท่านั้น ไม่มีการเสนอจริงๆ
ขณะที่เมื่อวันจันทร์(4 มิถุนายน)ที่บริเวณกำแพงโรงเรียนอนุบาลปัตตานี มีป้ายไวนิลหลายผืนถูกมือมืดนำไปแขวนไว้ตลอดแนวกำแพง เขียนข้อความว่า “เลิกใส่ฮิญาบ แบ่งแยกศาสนา” และ “หยุดสร้างความแตกแยกให้เด็กและโรงเรียน” นอกจากนั้นยังมีป้ายไวนิลข้อความพร้อมภาพ “พระไพจิตรสาราณียการ” อดีตเจ้าอาวาสวัดนพวงศาราม เป็นผู้ให้ยืมที่ธรณีสงฆ์ สร้างโรงเรียนอนุบาลปัตตานีด้วย
ทีมข่าวอิศรารายงานว่า ป้ายเหล่านี้ถูกนำมาติดในช่วงเช้าตรู่ โดยไม่มีคนเห็นว่าใครเป็นคนติด จากนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปส่งโรงเรียน ทำให้ทั้งเด็กทั้งผู้ปกครองได้เห็นป้ายข้อความพวกนี้ กระทั่งช่วงหลัง 8 โมง ถึงจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัย และภารโรงของโรงเรียนไปช่วยกับเก็บป้ายไปทั้งหมด