อ้างไม่ใช่รัฐสมาชิก พม่าขวางอัยการศาลอาญาโลกสอบวิกฤตโรฮิงญา

พม่าระบุว่า คำร้องของอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่แสวงหาขอบเขตอำนาจในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเนรเทศชาวมุสลิมโรฮิงญาจากพม่าไปบังกลาเทศนั้นไม่มีมูล และควรยกเลิก

ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน ถูกขับไล่อย่างรุนแรงออกจากที่อยู่ของตนเองในรัฐยะไข่ของพม่าในการปราบปรามของทหารที่เริ่มขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม หลังจากคณะกรรมการที่ปรึกษาชุดของโคฟี่ อันนัน ได้ส่งรายงานสรุปการแก้ปัญหารัฐยะไข่ต่อทางการพม่า

ชาวโรฮิงญาได้เปิดเผยถึงเรื่องราวการข่มขืน การเข่นฆ่า และการเผาหมู่บ้านโดยฝีมือของทหารพม่า ที่สหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

พม่าอ้างว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการป้องกันตนเอง ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มสูงจากนานาชาติที่ต้องการให้มีการสอบสวนเพื่อดำเนินการนำผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงมาลงโทษตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อเดือน เมษายน ฟาโต เบนโซดา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้ดำเนินขั้นตอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการร้องต่อผู้พิพากษาให้พิจารณาว่าศาลสามารถขยายขอบเขตอำนาจดำเนินคดีต่อพม่าได้หรือไม่ ซึ่งพม่านั้นไม่ได้เป็นชาติสมาชิกของศาล พร้อมกันนั้น ยังได้ขอให้พม่ายื่นคำตอบอย่างเป็นทางการต่อคำร้องดังกล่าวภายในวันที่ 27 กรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม พม่าได้ชี้แจงถึงกรณีที่นิ่งเฉยที่จะตอบสนองต่อคำร้องดังกล่าว โดยอ้างถึงสถานะของประเทศที่ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก พร้อมกล่าวหาว่าอัยการศาลพึ่งพาแหล่งข้อมูลด้านเดียว และมีอคติ

สำนักงานของนางอองซานซูจี อ้างว่าที่พม่าปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับศาลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า “คำร้องของอัยการอาจถูกตีความว่าเป็นความพยายามทางอ้อมในการใช้อำนาจศาลต่อพม่าที่ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ”

“พม่าไม่มีพันธะผูกพันที่จะต้องเข้าสู่กระบวนดำเนินคดีของอัยการ และการกำหนดขอบเขตอำนาจศาลในคดีดังกล่าวจะกลายเป็นแบบอย่างที่เป็นอันตรายในการฟ้องร้องประเทศที่ไม่ได้เป็นรัฐสมาชิกในอนาคต” คำแถลง ระบุ

พม่ายังกล่าวหาการดำเนินของศาลไม่เป็นไปตามระเบียบปกติ และการขาดความโปร่งใส

พม่าอ้างว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่เป็นอิสระของตัวเองขึ้นมาสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ทว่ากรรมการที่ถูกตั้งขึ้นหลายชุดต่างทยอยกันลาออกพร้อมระบุว่าไม่สามารถยอมเป็นเครื่องมือฟอกความผิดให้พม่าได้

ความคิดเห็น

comments