Headlines

สหรัฐฯตัดงบช่วยปาเลสไตน์กว่า 6,500 ล้าน

สหรัฐฯ ประกาศตัดเงินช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์กว่า 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,520 ล้านบาทเมื่อวันศุกร์ (24 สิงหาคม) ท่ามกลางปัญหาความสัมพันธ์กับผู้นำปาเลสไตน์ที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อ้างว่า เงินทุนซึ่งสหรัฐฯ เตรียมไว้อุดหนุนโครงการต่างๆ ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาจะถูกผันไปใช้สนับสนุน “โปรเจ็กต์ที่สำคัญกว่าในสถานที่อื่นๆ”

“เราได้ทบทวนความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้แก่รัฐบาลปาเลสไตน์ รวมถึงเวสต์แบงก์และกาซา เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อย่างสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และคุ้มค่ากับภาษีที่ชาวอเมริกันจ่าย”

“จากผลการทบทวนดังกล่าว ประธานาธิบดีมีคำสั่งให้ผันเงินช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งใจจะสนับสนุนโครงการในเวสต์แบงก์และกาซาไปใช้ที่อื่นแทน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเงินดังกล่าวจะถูกผันไปใช้ที่ใด และเกี่ยวข้องกับโครงการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์หรือไม่ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อีกคนก็ตอบว่า “เราจะทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเพื่อนำเงินเหล่านี้ไปใช้สนับสนุนนโยบายอื่นๆ ที่สำคัญกว่า”

ทำเนียบขาวไม่พอใจที่ผู้นำปาเลสไตน์ประกาศคว่ำบาตรกระบวนการสันติภาพที่สหรัฐฯ เป็นตัวกลาง หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรองนครเยรูซาเลมว่าเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และยังย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปดินแดนสำคัญของปาเลสไตน์แห่งนี้ด้วย ซึ่งเท่ากับทำลายจุดยืนทางการทูตที่อเมริกายึดถือมานานหลายสิบปี

สถานะของนครอันเป็นที่ตั้งศาสนสถานสำคัญของ 3 ศาสนาแห่งนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งต่างก็ต้องการได้นครแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของชนชาติตน

ชาวปาเลสไตน์ต้องการได้เยรูซาเลมฝั่งตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่อิสราเอลประกาศกร้าวว่าเยรูซาเลมเป็น ‘เมืองหลวงตลอดกาลที่ไม่อาจแบ่งแยกได้’ ของชนชาติยิว แม้ว่าตามมตีสหประชาชาติกำหนดให้เส้นเขตแดนปี 1967 กำหนดให้เยรูซาเล็มเป็นของปาเลสไตน์ก็ตาม

ทรัมป์ มอบหมายให้ เจเร็ด คุชเนอร์ บุตรเขยเชื้อสายยิวของเขา รับหน้าที่ดูแลกระบวนการสันติภาพระหว่างยิวและปาเลสไตน์ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าความริเริ่มใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่สันติภาพจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างเมื่อใด

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้ฮามาสเป็นข้ออ้างว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อเมริกาตัดสินใจระงับความช่วยเหลือดังกล่าว

ชาวปาเลสไตน์กว่า 2 ล้านคนอยู่อย่างแออัด และยากจน ในฉนวนกาซามีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก และการตัดสินใจของสหรัฐฯ คาดว่าจะกระพือวิกฤตมนุษยธรรมให้เลวร้ายลงไปอีก

ฮานาน อัชรอวี หนึ่งในคณะกรรมการบริหารองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) กล่าวหารัฐบาล ทรัมป์ ว่าใช้วิธี ‘แบล็คเมล์’ เป็นเครื่องมือทางการเมือง

“ชาวปาเลสไตน์และผู้นำจะไม่ยอมถูกข่มขู่ และจะไม่ยอมจำนนต่อการบีบบังคับ” เธอกล่าว

สหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือน มกราคมที่ผ่านมาว่าจะระงับวงเงิน 65 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ ครึ่งหนึ่งจาก 125 ล้านดอลลาร์ที่จะจ่ายให้แก่หน่วยงานของสหประชาชาติเพื่อใช้ช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์

ความคิดเห็น

comments