Headlines

UN ชี้ ผบ.สส.พม่าต้องถูกดำเนินคดี “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

ผู้สืบสวนสหประชาชาติเรียกร้องการไต่สวนระหว่างประเทศและการดำเนินคดีต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารระดับสูงอีก 5 นาย ของพม่า จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา

“นายพลทหารของพม่าที่รวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต้องถูกสอบสวน และดำเนินคดีจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ เช่นเดียวกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามในรัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่น และรัฐชาน” คณะผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ ระบุในคำแถลง

ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน หนีตายออกจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศ หลังพม่าดำเนินการปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงเมื่อ 25 สิงหาคม 2560 ท่ามกลางข้อกล่าวเรื่องราวเกี่ยวกับการวางเพลิง การเข่นฆ่า และการข่มขืน ด้วยฝีมือของทหาร และกลุ่มม็อบในพม่า

พม่าปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อข้อกล่าวหาการกวาดล้างชาติพันธุ์ และยืนยันว่า การปราบปรามเป็นการตอบโต้การโจมตีของกบฏโรฮิงญา

แต่ในรายงานที่เผยแพร่วันจันทร์ (27) คณะผู้แทนสหประชาชาติยืนยันว่า ยุทธวิธีของกองทัพได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และไม่เหมาะสมต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นจริง

คณะผู้แทนที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในเดือน มีนาคม 2561 ได้สรุปในรายงานว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะรับรองการสืบสวน และการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสายการบังคับบัญชาของกองทัพพม่า

รายงานยังพบด้วยว่า อองซานซูจี ไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลหรืออำนาจทางศีลธรรมเข้าขัดขวางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

แม้จะยอมรับว่า ซูจี และเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยต่อการกระทำของทหาร แต่รายงานระบุว่า การกระทำและการละเลยของพวกเขามีส่วนที่ทำให้เกิดการกระทำอาชญากรรมทารุณโหดร้าย

ผู้สืบสวนยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ยื่นเรื่องสถานการณ์พม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมทั้งแนะนำการห้ามค้าอาวุธ และกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างเฉพาะเจาะจงกับผู้ที่ดูเหมือนจะมีส่วนรับผิดชอบมากที่สุด

ผู้สืบสวนยังเน้นย้ำถึงบทบาทของเฟซบุ๊ก ที่ระบุว่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ที่พยายามแพร่กระจายความเกลียดชัง

“แม้เฟซบุ๊กจะดำเนินการปรับปรุงในช่วงหลายเดือนมานี้ แต่การตอบสนองยังคงเชื่องช้า และไม่มีประสิทธิภาพ” รายงาน ระบุ พร้อมทั้งเรียกร้องการสืบสวนอย่างเป็นอิสระถึงโพสต์ และข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่นำไปสู่การแบ่งแยกและความรุนแรง

ขณะที่ล่าสุดเฟซบุ๊กระบุในวันจันทร์ (27) ว่า ได้ถอดบัญชีของเจ้าหน้าที่ทหารพม่าออกจากสื่อสังคมออนไลน์ และอินสตาแกรมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และความเกลียดชัง หลังการสอบสวนของสหประชาชาติเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญา

“เรากำลังถอดบัญชีของบุคคล และองค์กรพม่า 20 ราย จากการใช้งานเฟซบุ๊ก ซึ่งรวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า และเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เมียวดีของทหาร” เฟซบุ๊ก ระบุ

“เรากำลังลบบัญชีเฟซบุ๊ก 18 บัญชี บัญชีอินสตาแกรม 1 บัญชี และหน้าเพจเฟซบุ๊ก 52 เพจ ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 12 ล้านคน” เฟซบุ๊กระบุในคำแถลงบนเว็บไซต์

คำแถลงยังระบุอีกว่า เฟซบุ๊กต้องการที่จะป้องกันบุคคล และองค์กรเหล่านี้ไม่ให้ใช้งานพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เพื่อโหมกระพือความตึงเครียดทางศาสนา และชาติพันธุ์ให้มากยิ่งขึ้น

ความคิดเห็น

comments