จนท.พม่ารับประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโรฮิงญาต่ำไป

เจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนจากต่างชาติของพม่า กล่าวยอมรับว่า เขาประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโรฮิงญาต่ำเกินไป พร้อมเสริมว่า การตำหนิประณามเกี่ยวกับการจำคุกสองนักข่าวรอยเตอร์จะยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศหนักขึ้น

ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารงานของบริษัท หรือ DICA หน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนของภาคเอกชน กล่าวถึงผลกระทบของวิกฤตต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนของพม่าว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างชุมชนได้ แต่วิกฤตในรัฐยะไข่นั้นแตกต่างออกไป

“ผมประเมินสถานการณ์ต่ำไป” อ่อง นาย อู กล่าวถึงผลกระทบของความรุนแรงที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ที่ส่งผลต่อเนื่องจนกลายเป็นวิกฤตในปี 2560

“หลังจากผ่านไป 2 ปี ตอนนี้คุณสามารถเห็นได้ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพม่านั้นดิ่งลง มันกำลังลดลงเรื่อยๆ” อ่อง นาย อู กล่าวถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แม้เขาจะเสริมว่าเขายังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพได้

การอนุมัติการลงทุนของต่างชาติในพม่าลดลงในปี 2559 และปี 2560 ตามข้อมูลของ DICA ที่ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการวางแผนแห่งชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจ และปี 2560 นั้นถือเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556

ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ได้หนีตายจากรัฐยะไข่ของพม่าเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ ตั้งแต่การปราบปรามของทหารเริ่มขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2560 โดยยกเหตุผู้ก่อการร้ายโจมตีด่านรักษาความมั่นคงมาเป็นข้ออ้าง

ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ทหารพม่าดำเนินการสังหารหมู่ และข่มขืนชาวโรฮิงญา ด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้นายพลระดับสูงของกองทัพพม่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่พม่าปฎิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

รัฐบาลของนางอองซานซูจี ถูกคณะกรรมการสหประชาชาติชี้ว่าเธอล้มเหลวที่จะทำแม้เพียงการกล่าวตำหนิการปราบปรามของทหารในรัฐยะไข่

โดยนักลงทุนได้แสดงความวิตกว่ามาตรการคว่ำบาตรที่เป็นอุปสรรคทางเศรษฐกิจมายาวนานหลายปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารอาจหวนกลับมาอีก

นอกจากนั้น คำตัดสินในคดีสองนักข่าวรอยเตอร์ ที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 7 ปี เมื่อวันจันทร์ จากความผิดละเมิดกฎหมายความลับราชการ แม้พวกเขาจะปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด จากการตรวจสอบเหตุการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอัยดิน ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการตำหนิประณามจากนานาประเทศ

สองนักข่าวของรอยเตอร์ถูกจับกุมขณะกำลังสืบสวนเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงในช่วงเวลาที่พวกเขาถูกจับกุมตัวในเดือนธันวาคม ที่ต่อมาในภายหลัง ทหารได้ยอมรับในภายหลังว่ามีเหตุสังหารหมู่เกิดขึ้นจริง และลงโทษทหารจำนวนหนึ่ง

อ่อง นาย อู ที่มีบทบาทสำคัญในการร่างกฎหมายธุรกิจ กล่าวว่า คดีนักข่าวได้รับความสนใจเป็นวงกว้างจากสื่อต่างๆ และการปฏิบัติต่อพวกเขาจะเป็นปัจจัยที่นักธุรกิจจากชาติตะวันตกจะพิจารณาเมื่อพวกเขาตัดสินใจลงทุน

“ไม่เพียงแค่ประชาคมระหว่างประเทศ แต่ยังรวมถึงชุมชนท้องถิ่นบางส่วนที่ไม่พอใจกับการตัดสินใจดังกล่าว ดังนั้น มันจึงมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของเรา” อ่อง นาย อู กล่าว

ความคิดเห็น

comments