ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเรียกร้องการจัดตั้ง “กลไก” ใหม่ เพื่อรวบรวมหลักฐานสำหรับเตรียมคำฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำทารุณในพม่า ท่ามกลางข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา
ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของมิเชล บาเชเลต์ ในฐานะข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาตินับตั้งแต่รับหน้าที่เมื่อวันที่ 1 กันยายน เธอเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติตั้งกลไกระหว่างประเทศที่เป็นอิสระสำหรับพม่า เพื่อรวบรวม เก็บรักษา และวิเคราะห์หลักฐานของอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุด เพื่อเร่งกระบวนการพิจารณาที่เป็นอิสระและเป็นธรรมทั้งในศาลของประเทศ และศาลระหว่างประเทศ
“ฉันขอเรียกร้องให้คณะมนตรีผ่านมติ และยื่นเรื่องต่อสมัชชาใหญ่อนุมัติ เพื่อให้กลไกดังกล่าวสามารถจัดตั้งขึ้นได้” บาเชเลต์ กล่าว
บาเชเลต์ระบุว่า กลไกใหม่นี้คล้ายกันกับสิ่งที่เคยตั้งขึ้นสำหรับอาชญากรรมในซีเรีย ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการตรวจสอบเบื้องต้นของอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)
ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติเมื่อเดือนก่อนออกรายงานสรุปว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารระดับสูงอีก 5 นาย สำหรับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คน หนีตายจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศจากการปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงของพม่านับตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560 ท่ามกลางข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเช่น การวางเพลิง การเข่นฆ่า และข่มขืนโดยทหารและม็อบชาวยะไข่ท้องถิ่นที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ
พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการกวาดล้างชาติพันธุ์ โดยอ้างว่าทหารตอบโต้การโจมตีของกลุ่มกบฎโรฮิงญา
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ศาลมีขอบเขตอำนาจในการไต่สวนวิกฤติเพราะธรรมชาติของการข้ามพรมแดนของข้อกล่าวหาการเนรเทศโรฮิงญาไปบังกลาเทศ คำตัดสินที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
บาเชเลต์ยินดีกับการตัดสินใจของ ICC โดยอธิบายว่าเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งต่อการยุติการยกเว้นโทษและแก้ไขความทุกข์ยากของชาวโรฮิงญา