สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ประกาศภาวะฉุกเฉินเกาะสุลาเวสี 14 วัน หลังแผ่นดินไหว สึนามิถล่ม ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า 800 คนแล้ว พร้อมเปิดรับความช่วยเหลือทุกด้านเต็มที่
นสพ.จากาตาร์โพสต์ ได้รายงานความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูด เมื่อวันศุกร์ที่ (28 กันยายน) ที่ผ่านมา บนเกาะสุลาเวสี ตอนกลางของประเทศ และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มตามมา โดยสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย (BNPB) ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเมืองสุวาเวสี เป็นระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 11 ตุลาคม
ด้านเจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะยังมีคนอีกนับสิบติดอยู่ใต้ซากตึกโรงแรมและห้างสรรพสินค้าในเมืองปาลู ซึ่งห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 1,500 กิโลเมตร ไม่รวมอีกหลายร้อยชีวิตที่อาจถูกฝังไปพร้อมกับบ้านเรือนที่ถูกดินถล่ม
ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ได้ทวีตข้อความเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (30 กันยายน) ว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนในจังหวัดสุลาเวสีกลาง เราทุกคนต่างก็รู้สึกเสียใจ”
โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงจาการ์ตาว่า การเข้าถึงผู้ประสบภัยคือภารกิจสำคัญอันดับแรก
“หลายพื้นที่ยังอพยพคนออกมาไม่ได้เนื่องจากขาดเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น แต่เครื่องมือเหล่านี้เริ่มถูกส่งไปถึงปาลูแล้วตั้งแต่เมื่อคืน” วิโดโด กล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะส่งเสบียงอาหารขึ้นเครื่องบินลำเลียง C-130 จากกรุงจาการ์ตาไปยังปาลูให้ได้มากที่สุด
ผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วส่วนใหญ่อยู่ในเมืองปาลูซึ่งมีประชากรราว 379,000 คน และทางการเตรียมจะจัดพิธีฝังศพหมู่ทันทีที่สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ของศพได้
อย่างไรก็ตาม ยอดผู้เสียชีวิตยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ และอาจถึงหลักพันกว่าคน โดยจุดที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือเมืองดองกาลา (Donggala) ซึ่งมีประชากรราว 300,000 คน และอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว รวมถึงอีก 2 เขตคือ ซิกิ (Sigi) และเกาะ Parigi Mouton ที่การสื่อสารถูกตัดขาดไปตั้งแต่วันศุกร์(28)
ขณะที่ PT Telkom Indonesia บริษัทที่ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ระบุ กำลังดำเนินการซ่อมระบบเพื่อให้กลับมาใช้บริการได้ตามปกติ ปัจจุบันบริการ SMS และ Voice Call ได้เริ่มใช้ได้แล้วในหลายจุดในเมืองปาลูแล้ว
พื้นที่ประสบภัยทั้งหมดนี้มีประชากรรวมกันราวๆ 1.4 ล้านคน ล่าสุดยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้ว 832 รายแล้ว
ล่าสุดมีรายงานชาวต่างชาติสูญหาย 5 ราย โดยเป็นพลเมืองฝรั่งเศส 3 ราย, เกาหลีใต้ 1 ราย และมาเลเซียอีก 1 ราย
ที่ย่านโปโบยา (Poboya) ซึ่งเป็นเนินเขาเหนือเมืองปาลู อาสาสมัครกู้ภัยได้ขุดหลุมยาว 100 เมตรไว้สำหรับฝังศพผู้เสียชีวิต โดยได้รับคำสั่งให้เตรียมพื้นที่เอาไว้ให้เพียงพอสำหรับอย่างน้อย 1,300 ศพ
หน่วยกู้ภัยจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลหนักเพื่อยกแท่งคอนกรีตที่พังถล่ม แต่หลายพื้นที่ยังไม่สามารถนำอุปกรณ์เข้าไปถึงได้เนื่องจากสะพานขาดและมีดินถล่มลงมาขวางเส้นทาง
รัฐวิสาหกิจพลังงานของอินโดนีเซียได้ส่งน้ำมันเชื้อเพลิง 4,000 ลิตรขึ้นเครื่องบินไปช่วยสนับสนุนงานกู้ภัย ขณะที่หน่วยงานด้านการขนส่งก็เตรียมส่งข้าวสารหลายร้อยตันไปเป็นเสบียงอาหารแก่ผู้ประสบภัยบนเกาะสุลาเวสี
มุลยานี อินดราวาตี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอิเหนา แถลงว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 560,000 ล้านรูเปียะห์ หรือ 37.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการเยียวยาภัยพิบัติครั้งนี้
หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เหตุใดระบบเตือนภัยสึนามิของอินโดนีเซียจึงล้มเหลวเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (28) และทำไมประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งจึงไม่รีบอพยพขึ้นที่สูงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ต่อให้ไม่มีประกาศเตือนภัยอย่างเป็นทางการก็ตาม
สุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอิเหนา ยอมรับต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอาทิตย์ (30) ว่า ทุ่นเตือนภัย (tsunami buoys) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจจับกระแสคลื่นไม่ได้ถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี 2012 เนื่องจากขาดงบประมาณ
ทอม เลิมบอง (Tom Lembong) ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซีย ได้แถลงผ่านทวิตเตอร์ว่า ประธานาธิบดี วิโดโด เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ และตนจะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน
“เมื่อคินนี้ประธานาธิบดี @jikowi ได้อนุญาตให้เรารับความช่วยเหลือจากต่างชาติ เพื่อตอบสนองและบรรเทาภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน” เขากล่าว พร้อมขอให้องค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ ติดต่อตนโดยตรงผ่านทางทวิตเตอร์และอีเมล
ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ออสเตรเลีย ไทย และจีนได้เสนอมอบความช่วยเหลือแก่อินโดนีเซียแล้ว ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้มอบเงินสนับสนุนการกู้ภัยเบื้องต้น 1.5 ล้านยูโร
https://www.youtube.com/watch?v=CL9IhtXt-E8