ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เผยว่า พม่าไม่สามารถ และไม่ตั้งใจที่จะสอบสวนการละเมิดสิทธิชาวมุสลิมโรฮิงญา และเรียกร้องให้บรรดานายพลพม่าถูกดำเนินคดีในศาลระหว่างประเทศ
ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงสหประชาชาติได้เรียกร้องให้นายทหารระดับสูงของพม่าถูกสอบสวนในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม จากการปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงของพม่าต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติกว่า 720,000 คน ต้องอพยพหลบหนีตายไปบังกลาเทศ
พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหา และกล่าวหาว่าคณะทำงานของสหประชาชาติมีอคติลำเอียง และรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการของตนเองขึ้นเพื่อสอบสวนอาชญากรรม
แต่ นางยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติประจำพม่า ที่ถูกห้ามเดินทางเข้าพม่าตั้งแต่เดือนธันวาคม กล่าวว่า รัฐบาลแสดงความสามารถให้เห็นเพียงเล็กน้อยกับการสอบสวนเหตุความรุนแรงที่ไร้ซึ่งอคติ และมีความคืบหน้าอย่างจำกัดและไม่เพียงพอ
“พม่าไม่สามารถและไม่ตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการสืบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างน่าเชื่อถือ ละเอียดถี่ถ้วน เป็นอิสระ และเป็นกลาง” ลี ระบุในรายงานที่เผยแพร่ผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ของตนเอง
การปฏิเสธของพม่าที่จะดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของศาลระหว่างประเทศต้องเป็นผู้ดำเนินการแสวงหาความยุติธรรม
“ความรับผิดชอบอยู่ที่ประชาคมระหว่างประเทศที่จะดำเนินการ ความล่าช้าใดๆ ก็ตามในการจัดตั้งกระบวนการยุติธรรมจะยิ่งส่งผลให้เกิดการละเมิดมากขึ้น” ลี กล่าวเตือน
ในข้อสรุปของลี ได้แนะนำว่า สหประชาชาติควรยื่นเรื่องสถานการณ์ในพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศโดยทันที
พื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ถูกปิดล้อมนับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2560 ทั้งนักข่าว และผู้สังเกตการณ์ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมพื้นที่แค่ระยะสั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ทางการควบคุมอย่างใกล้ชิด
ลี ยังแสดงความวิตกเกี่ยวกับความถดถอยของเสรีภาพสื่อในพม่า หลังนักข่าวของรอยเตอร์ถูกจำคุกเป็นเวลา 7 ปี หลังรายงานถึงบทบาทของทหารในการสังหารหมู่ชายโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน ของรัฐยะไข่ ซึ่งลี เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักข่าวทั้ง 2 คนโดยทันที
ทหารพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกือบทั้งหมด และยืนยันว่าปฏิบัติการกวาดล้างเป็นสิ่งจำเป็นในการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา