ยะลาฟื้นฟู ต.พร่อน นำร่องต้นแบบตำบลปลา สร้างรายได้

สภาเกษตรจังหวัดยะลา จับมือวิทยาลัยชุมชนประมงอำเภอ เดินหน้าพัฒนาขับเคลื่อนตำบลพร่อน เป็นตำบลปลา นำร่องของจังหวัดยะลา เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันจันทร์ (15 ตุลาคม) ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 1 ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่มาร่วมพบปะ พูดคุย และเสวนาบูรณาการ การพัฒนาตำบลปลา ในพื้นที่ตำบลพร่อน ร่วมกับนายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายกิตติ กิตติโชควัฒนา ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนยะลา (วชช.ยะลา) ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สภาเกษตรกรจังหวัดยะลา ประมงอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ถึง 6 ตำบลพร่อน ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนตำบลพร่อน ให้เป็นหมู่บ้านปลาอย่างครบวงจร และให้เกษตรกรมีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยังได้ร่วมมอบพันธุ์ปลานิล จำนวน 2,000 ตัว และปัจจัยในการเลี้ยงปลา โดยการสนับสนุนจากวิทยาลัยชุมชนยะลา ให้กับเกษตรกรตำบลพร่อน และร่วมรับประทานอาหาร “เมนูปลานิล” จากการเลี้ยงของเกษตรกรในหมู่บ้าน อีกด้วย

นายอาบีดิน มนูญทวี สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กรรมการ วชช.ยะลา ประธานกลุ่มเลี้ยงปลาตำบลพร่อน กล่าวว่า เดิมกลุ่มเลี้ยงปลาตำบลพร่อน มีต้นทุนอยู่แล้ว มีบ่อปลาอยู่ถึง 100 บ่อ เลี้ยงบ้างไม่เลี้ยงบ้าง บางบ่อก็ร้าง ซึ่งตนเองมองว่าเป็นต้นทุนที่ดี เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ตำบลพร่อน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยาง ถ้าได้มาเลี้ยงปลาอย่างจริงจังก็จะเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ก็เลยคิดว่าจะพัฒนาการเลี้ยงปลาให้เป็นอาชีพหลักกับเกษตรกร ที่ผ่านมาโครงการแรกได้งบประมาณ 9101 มา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 10 ราย โครงการที่ 2 ได้งบประมาณจากประมงอำเภอ ประมงจังหวัด มีเกษตรกร เข้าร่วม จำนวน 51 คน ขณะนี้ ก็เลี้ยงกันอยู่มีทั้งปลานิล ปลาตะเพียน เป็นปลากินพืช ต่อมาก็ได้เข้าร่วมโครงการกับวิทยาลัยชุมชนยะลา เพื่อต่อยอดพัฒนาศักยภาพผู้เลี้ยงปลา โดยได้คัดบ่อที่มีคุณภาพ ได้ขนาด น้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง ผู้เลี้ยงเอาจริงเอาจัง จำนวน 20 ราย เพื่อพัฒนาขับเคลื่อนตำบลพร่อน เป็นโมเดลของตำบลปลา ซึ่งจะต้องเป็นตำบลที่พึ่งตนเองได้ เลี้ยงเอง เพาะพันธุ์ปลาเอง และทำอาหารปลาได้ ซึ่งการเพาะพันธุ์ปลา กับการทำอาหารปลา คือ ความมั่นคงของการเลี้ยงปลา และจะเป็นการลดต้นทุนด้วย ส่วนการต่อยอดนั้น ก็จะแปรรูป เช่น ทำกุนเชียงปลา ปลาเค็ม ปลาแห้งอบสมุนไพร ปลาส้ม ปลาแดดเดียว ซึ่งก็จะช่วยพัฒนา และเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรของตำบลพร่อน ได้ รวมทั้งในอนาคต ก็จะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนตำบลปลา เชื่อมโยงเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

ด้าน นายวรัญญู แก้วทอง ครูอัตราจ้าง ผู้รับผิดชอบโครงการ การจัดการความรู้เพื่อเข้าสู่ Smart Farmer กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาการเลี้ยงปลาในตำบลพร่อน เป็นโครงการพัฒนาเกษตรกร เข้าสู่ Smart Farmer ในปี 2561 ซึ่งทางวิทยาลัยชุมชนยะลา ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในการเลี้ยงปลาแบบครบวงจร มีการเปิดหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับสัตว์น้ำให้กับสมาชิก 20 ราย นอกจากนี้ ก็ยังมีการแจกปัจจัย เช่น พันธุ์ปลานิล อาหาร ตาข่าย เพื่อให้ตำบลพร่อน เป็นพื้นที่นำร่องของจังหวัดยะลา ที่จะเป็นหมู่บ้านปลา ต่อไป

ในส่วนของอนาคตก็จะพัฒนาในเรื่องการแปรรูปปลา ตามที่ ประธานสภา วชช.ยะลา ผู้อำนวยการ วชช.ยะลา นายวิชาพร ชินประพัทธ์ ได้มีนโยบายในการทำหมู่บ้านปลา ต้องทำให้ครบวงจรด้วย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งทาง วชช.ยะลา เอง ก็มองเห็นในการเพาะพันธุ์ปลา การแปรรูปปลา เป็นปลาเชียงแหนมปลา ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2563 ส่วนปี 2562 ก็จะเป็นการนำร่องในการเพาะพันธุ์ปลา เลี้ยงปลาให้ครอบวงจรก่อน

ที่มา : สทท.ยะลา

ความคิดเห็น

comments