ธนาคารโลกมีรายงานว่า เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั่วโลกมีเงินยังชีพไม่ถึงวันละ 5.50 ดอลลาร์ หรือราว 178 บาท โดยพบคนยากจนในประเทศเศรษฐกิจร่ำรวยมากขึ้น แม้จะมีความพยายามลดปัญหาความยากจนรุนแรงแล้วก็ตาม
ธนาคารโลก ระบุในวันพุธ (17 ตุลาคม) ว่า ถึงแม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการลดความยากจนแบบสุดขีด แต่เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังคงยังชีพด้วยเงินไม่ถึง 5.50 ดอลลาร์ (ราว 178 บาท) ต่อวัน
ในรายงานที่มีการจัดทำปีละสองครั้ง ธนาคารโลกใช้มุมมองที่ครอบคลุมมากกว่าเดิมเพื่อดูว่าประเทศไหนกำลังถดถอย ถึงแม้ว่าสัดส่วนของผู้ที่มีความยากจนแบบสุดขีดซึ่งถูกนิยามด้วยการมีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ (ราว 61 บาท) ต่อวัน จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ตาม
ภายใต้เกณฑ์ความยากจนที่ถูกขยายเพิ่มเติม รายงานฉบับนี้พบว่า จำนวนผู้ยากจนทั่วโลกยังคงสูงอย่างไม่อาจยอมรับได้ ในขณะที่ดอกผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ “ไม่ได้ถูกแบ่งสรรอย่างเท่าเทียมในหลายภูมิภาคและหลายประเทศ”
ถึงแม้ว่าการเติบโตทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี้จะซบเซา แต่จำนวนคนยากจนกลับลดลงกว่า 68 ล้านคนในช่วงปี 2013-2015 “จำนวนเท่ากับประชากรของประเทศไทยหรือสหราชอาณาจักร”
ถึงแม้ว่าจะมีความคืบหน้าดังกล่าว แต่รายงานระบุส่า แนวโน้มปัจจุบันบ่งชี้ว่า เป้าหมายของธนาคารโลกที่จะลดความยากจนสุดขีดให้เหลือน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 อาจไม่สามารถเป็นจริงได้
“สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ ความยากจนแบบสุดขีดกำลังฝังรากลึกในประเทศจำนวนหนึ่ง และอัตราความเร็วในการลดลงของความยากจนจะเชื่องช้าลงอย่างมีนัยสำคัญเร็วๆ นี้” รายงาน ระบุ
ด้วยเกณฑ์รายได้ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน ความยากจนทั่วโลกลดลงเหลือ 46 เปอร์เซ็นต์จาก 67 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 1990-2015 เมื่อเดือนที่แล้วธนาคารโลกรายงานว่า ความยากจนสุดขีดลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015
ด้วยการผงาดขึ้นของจีน เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีอัตราความยากจนลดลง 60 จุดเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ แต่ภูมิภาคนี้ไม่น่าจะคงอัตราการลดลงนี้ได้ต่อไปในขณะที่การเติบโตเริ่มช้าลง
และความยากจนกำลังเริ่มฝังรากในแอฟริกาใต้ซาฮาร่าซึ่ง 84.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรยังคงยังชีพด้วยรายได้ไม่ถึง 5.50ด ดอลลาร์ต่อวัน รายงานระบุ
เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกอาศัยในประเทศรายได้ต่ำ ในปี 2015 จำนวนดังกล่าวลดลงเหลือ 9 เปอร์เซ็นต์
ธนาคารโลกยังเตือนว่า ในประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ คนยากจนไม่ได้รับส่วนแบ่งอย่างเท่าเทียมในการเติบโตทางเศรษฐกิจ