ความพยายามของ “จีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย” ในการขัดขวางการรับฟังข้อสรุปของหัวหน้าคณะไต่สวนสหประชาชาติกรณีโรฮิงญาต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และคณะไต่สวนยังได้เรียกร้องให้คณะมนตรีผลักดันกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้น
“การกระทำที่โหดร้ายทารุณยังคงเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มาร์ซูกิ ดารุสมาน หัวหน้าภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงสหประชาชาติว่าด้วยพม่า กล่าวกับนักข่าวก่อนการบรรยายสรุปต่อคณะมนตรีความมั่นคง
แรงกดดันจากทั่วโลก เพื่อเรียกร้องการดำเนินการกับผู้รับผิดชอบต่อปฎิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากการปราบปรามทางทหารพม่าต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน หนีตายข้ามแดนไปบังกลาเทศ
ดารุสมาน กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคง ว่า โรฮิงญาที่ยังอยู่ในรัฐยะไข่มีความเสี่ยงอย่างร้ายแรง และผู้หลบหนีที่เดินทางกลับประเทศ จะตกอยู่ในบริบทที่เทียบได้กับการลงโทษพวกเขาทั้งชีวิต และการสังหารหมู่ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้
“เราเต็มใจและสามารถดำเนินการกับผู้รับผิดชอบต่อข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ก็ตามที่มีพยานหลักฐานเพียงพอ” เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ กล่าวอ้างต่อคณะมนตรีความมั่นคง แต่ก็ปฏิเสธข้อเท็จจริงในรายงานของสหประชาชาติ
“อาชญากรรมที่เราได้รับทราบนั้น สะท้อนถึงผู้ที่กระทำความผิดในรวันดา และเซเบรนิกา เมื่อราว 20 ปีก่อน คณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินการในสองสถานการณ์นั้น แม้ดำเนินการล่าช้าเกินไปที่จะปกป้องพวกเขา แต่ก็ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีผู้รับผิดชอบ” คาเรน เพียซ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ กล่าวกับคณะมนตรี
เพียซ กล่าวว่า เธอจะผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบ ที่เป็นการสิ้นสุดการละเว้นโทษของทหารพม่าอย่างแท้จริง
รายงานการไต่สวนของสหประชาชาติที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม 1 ปีหลังเกิดเหตุ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงกำหนดมาตรการห้ามค้าขายอาวุธกับพม่า มาตรการลงโทษอย่างเฉพาะเจาะจง และตั้งศาลเฉพาะกิจขึ้นเพื่อพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัย หรือส่งตัวผู้ต้องสงสัยยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)
“อธิปไตยของชาติไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โรฮิงญาและชาวพม่าทั้งหมด หรือแท้จริงแล้วทั้งโลกกำลังมองไปยังคุณเพื่อดำเนินการ” ดารุสมาน กล่าวกับคณะมนตรี
รายงานดังกล่าวเกิดขึ้นแม้นักการทูตชี้ว่า จีน และรัสเซียพยายามที่จะปกป้องพม่าจากการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะเป็นการลงโทษพม่าต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งทูตพม่าประจำสหประชาชาติย้ำว่า พม่าจะไม่ยอมรับการส่งเรื่องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ
อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสมาชิกอีก 6 ประเทศ เรียกร้องการบรรยายสรุปในวันพุธ แต่จีนขอให้ลงคะแนนเสียงเพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือในการขัดขวางการบรรยายสรุปอย่างเป็นทางการดังกล่าว แต่ผลการลงคะแนนพบว่า มี 9 ประเทศลงคะแนนสนับสนุนการบรรยายสรุป ส่วนจีน รัสเซีย และโบลิเวีย ลงคะแนนคัดค้าน ด้านเอธิโอเปีย(ลูกหนี้เงินกู้ของจีน) อิเควทอเรียลกินี และคาซัคสถาน(อดีตอาณานิคมของรัสเซีย) งดออกเสียง
เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติกล่าวกับคณะมนตรีว่า คณะมนตรีฯ ไม่ควรมีส่วนร่วมในประเด็นสิทธิมนุษยชนเฉพาะประเทศ และการบรรยายสรุปจะไม่เป็นผลดีต่อความพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์
ด้านเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกล่าวหาสมาชิก 9 ประเทศ ที่เรียกร้องการประชุมว่าเป็นมติสภาที่ตั้งใจโจมตีในประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาต่อพม่า