เจ้าหน้าที่พม่าเยือนค่ายผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาในบังกลาเทศวันพุธ (31 ตุลาคม) ในความพยายามที่จะเริ่มกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยหลายแสนคนที่หลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าเมื่อปีก่อนกลับประเทศ ด้าน UN ชี้สถานการณ์ในยะไข่ยังไม่เอื้อต่อการส่งกลับ
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน หนีตายจากความรุนแรงข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ ตามการระบุของหน่วยงานสหประชาชาติ หลังความรุนแรงเริ่มขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2560 ที่นำมาซึ่งความรุนแรงที่สหประชาชาติระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
เจ้าหน้าที่เปิดเผยหลังการพบหารือในกรุงธากาเมื่อวันอังคาร (30) ว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจะเริ่มต้นในเดือนหน้า แต่หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติระบุว่าสภาพเงื่อนไขในรัฐยะไข่ยังไม่เอื้อต่อการเดินทางกลับ
แม้การตรวจสอบประเมินระยะที่ 2 ในรัฐยะไข่โดยหน่วยงานของสหประชาชาติจะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่การเข้าถึงพื้นที่ยังคงจำกัด โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ระบุ
โรฮิงญาและชาวมุสลิมอื่นๆ ใน 3 เมือง เผชิญกับความยากลำบากและความเปราะบางทางเศรษฐกิจเนื่องจากการจำกัดความเคลื่อนไหวและความรู้สึกหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจ
กลุ่มแกนนำโรฮิงญาราว 60 คน ได้พบหารือกับคณะเจ้าหน้าที่พม่าราว 12 คน ในค่ายกุตุปะหล่อง ค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในโลกในเขตคอกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ
พม่าอ้างว่าพร้อมรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม และได้สร้างค่ายใกล้ชายแดนเพื่อรับผู้ลี้ภัยเหล่านั้น
มี้น ทู ปลัดกระทรวงการต่างประเทศพม่า และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่พม่า กล่าวว่า พม่าได้ตรวจพิสูจน์รายชื่อผู้ลี้ภัยแล้วประมาณ 5,000 ชื่อ และการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจะเริ่มด้วยผู้ลี้ภัยชุดแรก 2,000 คน ในกลางเดือนพฤศจิกายน
“เรามาที่นี่เพื่อพบกับผู้คนจากค่ายต่างๆ เพื่อที่เราจะสามารถอธิบายถึงสิ่งที่เราได้เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางกลับประเทศของพวกเขา และรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา” มี้น ทู กล่าวกับนักข่าว ในเมืองค็อกซ์บาซาร์
บังกลาเทศได้มอบรายชื่อผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเพิ่มเติมอีกมากกว่า 22,000 ชื่อ เพื่อให้ฝ่ายพม่าตรวจสอบ
แกนนำโรฮิงญากล่าวถึงการพบหารือในวันนี้ว่าการส่งกลับประเทศตามที่เสนอนั้นไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวพวกเขา
“พวกเขาบอกเราว่าเราไม่ต้องการพักอยู่ในค่ายนานนัก แต่เมื่อเราถามว่ากี่วัน พวกเขากลับบอกไม่ได้ว่านานเท่าใด” แกนนำโรฮิงญา กล่าว
เขากล่าวอีกว่า แกนนำโรฮิงญาต้องการให้ทางการพม่ายอมรับพวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พร้อมกับสิทธิการเป็นพลเมืองพม่าก่อนพวกเขาเดินทางกลับ
พม่าไม่ได้กำหนดให้โรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง และชาวพม่าจำนวนมากเรียกโรฮิงญาว่า เบงกาลี ที่หมายถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ
แผ่นพับที่เจ้าหน้าที่พม่ามอบให้กับผู้ลี้ภัย มีเนื้อความสนับสนุนให้โรฮิงญายอมรับบัตรประจำตัวใหม่ในฐานะขั้นตอนแรกของการเป็นพลเมือง ชาวโรฮิงญาหลายคนปฏิเสธบัตรดังกล่าว ซึ่งพวกเขาระบุว่าปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นดังชาวต่างชาติ
ผู้ที่ครอบครองบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVC) จะได้รับการรับรองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-สังคม แต่ผู้ที่ไม่มีบัตรนี้จะถือเป็นผู้ไร้สัญชาติ แผ่นพับระบุ
“เมื่อเราถามถึงการเป็นพลเมืองของเรา ก็ไม่มีคำตอบ พวกเขาบอกให้เรายอมรับบัตร NVC พวกเขาบอกให้เรายอมรับบัตร NVC เราไม่ยอมรับบัตร NVC เราไม่ใช่เบงกาลี” ชาวโรฮิงญาที่เช้าร่วมการประชุมอีกรายหนึ่ง กล่าว
แกนนำโรฮิงญามอบจดหมายถึงนางอองซานซูจี ผู้นำพม่า ที่ระบุข้อเรียกร้องของพวกเขา รวมทั้ง การชดเชยและการฟื้นฟู สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโรฮิงญา
ผู้สอบสวนสิทธิของสหประชาชาติระบุในเดือนสิงหาคม ว่า ทหารพม่ากระทำการด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในการปราบปรามเมื่อปีก่อน
“การกระทำที่โหดร้ายทารุณยังคงเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มาร์ซูกิ ดารุสมาน หัวหน้าภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงสหประชาชาติว่าด้วยพม่า กล่าวกับนักข่าวก่อนการบรรยายสรุปต่อคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
รายงานการไต่สวนของสหประชาชาติที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม 1 ปีหลังเกิดเหตุ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงกำหนดมาตรการห้ามค้าขายอาวุธกับพม่า มาตรการลงโทษอย่างเฉพาะเจาะจง และตั้งศาลเฉพาะกิจขึ้นเพื่อพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัย หรือส่งตัวผู้ต้องสงสัยยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)
“อธิปไตยของชาติไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โรฮิงญาและชาวพม่าทั้งหมด หรือแท้จริงแล้วทั้งโลกกำลังมองไปยังคุณเพื่อดำเนินการ” ดารุสมาน กล่าวกับคณะมนตรี
ด้านรัฐบาลนางอองซานซูจีปฏิเสธข้อกล่าวหาเกือบทั้งหมด และอ้างว่าเป็นการตอบโต้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย
https://www.youtube.com/watch?v=USzcTtX7BjQ