ผู้สืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยพม่าของสหประชาชาติเรียกร้องให้บังกลาเทศระงับแผนการที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายแสนคนไปยังรัฐยะไข่ในเดือนนี้ โดยเตือนว่า ผู้ลี้ภัยจะเผชิญกับ “ความเสี่ยงสูงที่จะถูกกดขี่ข่มเหง”
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ข้ามแดนไปยังฝั่งบังกลาเทศจากภาคตะวันตกของพม่า เพื่อหนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560
สองประเทศเห็นพ้องกันเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าในกลางเดือน พฤศจิกายน แต่หน่วยงานผู้ลี้ภัยสหประชาชติได้กล่าวว่า สภาพเงื่อนไขในรัฐยะไข่ยังไม่เหมาะสมต่อการเดินทางกลับ
ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติ ระบุในคำแถลงว่า เธอได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ ว่า พวกเขาหวาดกลัวอย่างมาก ว่าชื่อของพวกเขาจะอยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกส่งตัวกลับประเทศ
นอกจากนั้น ลี ระบุว่า เธอยังไม่ได้เห็นหลักฐานใดๆ ของรัฐบาลพม่าในการสร้างสภาพแวดล้อมที่โรฮิงญาสามารถกลับไปยังบ้านเกิดของพวกเขา และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย พร้อมกับการได้รับการรับรองสิทธิ
“รัฐบาลล้มเหลวที่จะรับประกันว่าพวกเขาจะไม่เผชิญต่อความทุกข์ทรมานจากการกดขี่ข่มเหง และความรุนแรงโหดร้ายแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก” ลี กล่าว
ต้นตอของวิกฤตต้องได้รับการแก้ไขเป็นสิ่งแรก รวมทั้งสิทธิการเป็นพลเมืองและเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ลี กล่าว แต่พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศ และชาวพม่าจำนวนมากเรียกโรฮิงญาว่าเบงกาลี ที่หมายถึงคนของบังกลาเทศ