หน่วยปราบปรามยาเสพติดอินโดนีเซียเผยวัยรุ่นในกรุงจาการ์ตาและชวากลางต้มผ้าอนามัยดื่ม เพื่อให้มึนเมา โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสารดูดซับที่โดนความร้อนทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม
สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติของอินโดนีเซีย (BNN) เปิดเผยผ่านสื่อในประเทศเมื่อวันศุกร์ (9 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา พบวัยรุ่นในกรุงจาการ์ตาและเขตชนบทของเกาะชวากลาง ดื่มน้ำต้มผ้าอนามัยเพื่อให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มมึนเมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการรณรงค์เตือนภัยของการดื่มน้ำต้มผ้าอนามัย และป้องกันไม่ให้กระแสดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่
นิตยสารเตมโปของอินโดนีเซีย รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของซิตตี ฮิมาวัตตี กรรมการพิทักษ์เยาวชนแห่งชาติ (KPAI) ซึ่งรับผิดชอบดูแลด้านสุขภาพเยาวชน ยาเสพติด และสารเสพติด ระบุว่าในปี 2560 พบการต้มผ้าอนามัยดื่มในกลุ่มวัยรุ่นเพียงไม่กี่ครั้ง แต่นับจากเดือน กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่พบกลุ่มวัยรุ่นต้มผ้าอนามัยดื่มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นสถิติที่น่าตกใจ
เจ้าหน้าที่พบวัยรุ่นต้มผ้าอนามัยในเมืองโกรโบกัน, กูดุส, ปาตี, เร็มบัง, เซมารัง และในกรณีของกรุงจาการ์ตา พบเหตุการณ์ดังกล่าวในย่านเบกาซี และการาวัง แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขที่ชัดเจนว่าพบเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกี่ครั้งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
‘ยัสซี เปอร์มานา’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีของสถาบันเทคโนโลยีบันดุง เตือนผ่านสื่อว่า ผ้าอนามัยและผ้าอ้อม มีสารโพลิเมอร์ดูดซับความชื้น หรือ SAP ที่ให้ความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสารก่อความระคายเคืองได้อย่างรุนแรง ทั้งยังทำให้เกิดอาการตาแห้ง
ขณะที่เว็บไซต์โคโคนัทอินโดนีเซีย รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันประสาทวิทยาและการบำบัดทางจิตผู้มีอาการเสพติด หรือ IMAN ระบุว่าาการดื่มน้ำต้มผ้าอนามัยหรือผ้าอ้อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำลายตับและไต และทำให้ร่างกายสะสมสารก่อมะเร็ง
ส่วน ‘สุปรีนาโต’ หัวหน้าหน่วยปราบปรามยาเสพติดประจำชวากลาง ระบุว่า วัยรุ่นที่เสพติดอาการมึนเมาที่มาจากการต้มผ้าอนามัยหรือผ้าอ้อมดื่ม มีช่วงอายุประมาณ 13-16 ปี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนยากจนและชานเมืองที่ห่างไกล ในตอนแรกพวกเขาจะค้นหาผ้าอนามัยใช้แล้วจากที่ทิ้งขยะมาต้มน้ำดื่ม แต่ช่วงหลังเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยที่ยังไม่ได้ใช้ แต่ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างมาก เพราะสารโพลิเมอร์ที่อยู่ในผ้าอนามัยไม่ได้อยู่ในบัญชีสารเสพติด จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ที่เสพน้ำต้มผ้าอนามัยได้