เจ้าหน้าที่พม่าอ้างว่า ฝ่ายพม่าพร้อมรับชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 2,000 คน ที่ลี้ภัยในบังกลาเทศ กลับประเทศในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ตามกำหนดเดิม จากผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกจาก 5,000 คน
แต่ผู้ลี้ภัยมากกว่า 20 คน ในรายชื่อผู้เดินทางกลับที่ยื่นเสนอโดยฝ่ายบังกลาเทศ ปฏิเสธที่จะเดินทางกลับไปยังรัฐยะไข่ โดยบังกลาเทศ ระบุว่า ทางการจะไม่บังคับให้ใครเดินทางกลับ
ด้านสหประชาชาติ ระบุว่า สภาพเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางกลับ ส่วนหนึ่งเพราะชาวพม่ายังคงประท้วงต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของผู้ลี้ภัย หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ระบุว่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาควรได้รับอนุญาตให้เดินทางไปดูสภาพเงื่อนไขในพม่าด้วยตนเอง และตัดสินใจว่าจะกลับหรือไม่
ด้านรัฐบาลพม่าแถลงข่าวยืนยันว่า หากมีความล่าช้าใดๆ เกี่ยวกับการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศถือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบังกลาเทศ
“เราพร้อมแล้ว ขึ้นอยู่กับอีกประเทศ (บังกลาเทศ) ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น” วิน มัต เอ รัฐมนตรีสวัสดิการสังคม และการตั้งถิ่นฐานของพม่า กล่าวแถลงข่าวที่นครย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์ โดยอ้างถึงบังกลาเทศ
วิน มัต เอ กล่าวว่า พม่าเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ลี้ภัย 2,251 คน ที่จะถูกส่งตัวมายังศูนย์ 2 แห่ง ทางเรือในวันพฤหัสฯ และกลุ่มที่ 2 อีกจำนวน 2,095 คน ซึ่งจะเดินทางมาทางถนนในเวลาต่อมา
สิ่งที่จัดเตรียมไว้ยังค่ายส่งข้ามเขตแดน จะประกอบไปด้วยเสื้อผ้าและอาหารปันส่วน และผู้ลี้ภัยจะได้รับเงินจากการทำงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างที่อยู่ขึ้นใหม่จาก 1 ใน 42 สถานที่ที่กำหนดไว้
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังกลาเทศระบุว่า พวกเขาหวังให้กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยสามารถเริ่มต้นขึ้นได้ในวันพฤหัสฯ
“การเดินทางกลับจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครถูกบังคับให้กลับ” เจ้าหน้าที่ กล่าว
สองประเทศเห็นพ้องกันให้ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เป็นการเริ่มต้นส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งของชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ที่หนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่าเมื่อปีก่อน
ชาวโรฮิงญาระบุว่า ทหารและชาวพุทธท้องถิ่นสังหารหมู่ครอบครัว เผาหมู่บ้านหลายร้อยแห่ง และก่อเหตุรุมข่มขืน ซึ่งผู้สืบสวนสหประชาชาติกล่าวหาว่ากองทัพพม่ามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และกวาดล้างชาติพันธุ์
แต่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาเกือบทั้งหมด แต่ไม่อนุญาตให้คณะตรวจสอบของสหประชาชาติเขาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่
ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเดินทางไปยังบ้านเกิดของพวกเขา หรือสถานที่ตั้งถิ่นฐานเพื่อประเมินด้วยตนเองว่าพวกเขาสามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีหรือไม่
“เจ้าหน้าที่พม่าควรอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้าไปดูด้วยตนเอง” หน่วยงานระบุ
สำหรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับจะได้รับอนุญาตให้เดินทางแค่ภายในเมืองหม่องดอ หนึ่งใน 3 เมืองที่พวกเขาหลบหนีไป และเมื่อยอมรับบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVC) เท่านั้น แต่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ปฏิเสธบัตรนี้ เพราะจะเป็นการยอมรับโดยอ้างว่าพวกเขาเป็นชาวต่างชาติ ไม่ใช่ชาวพม่า
ชาวโรฮิงญาจำนวนมากคัดค้านการเดินทางกลับพม่าหากยังไร้ซึ่งการรับรองสถานะพลเมือง และเสรีภาพในการเคลื่อนไหว
ผู้สืบสวนสหประชาชาติ ระบุว่า ทหารพม่าควรถูกสอบสวนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เป็นผลของการปราบปราม ซึ่งพยานระบุว่า ยังรวมทั้งการเข่นฆ่า ข่มขืน และการวางเพลิง