โรฮิงญาในบังกลาเทศหนี กลัวถูกส่งกลับพม่า

ชาวมุสลิมโรฮิงญากำลังหลบหนีออกจากค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ ด้วยความกลับที่จะถูกส่งตัวกลับพม่าในวันพฤหัสบดีนี้ ตามข้อตกลงร่วมของบังกลาเทศ และพม่า แต่สหประชาชาติไม่เห็นด้วยกับการส่งกลับในเวลานี้ ชี้สถานการณ์ในพม่ายังไม่พร้อมให้โรฮิงญากลับ

เจ้าหน้าที่วางแผนที่จะเริ่มกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่า หลังหนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่า ที่สหประชาชาติ ระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

แกนนำชุมชนชาวโรฮิงญาเปิดเผยว่าแผนดังกล่าวสร้างความหวาดวิตกไปทั่วค่ายผู้ลี้ภัย และส่งผลให้บางครอบครัวที่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ลี้ภัยชุดแรกที่จะถูกส่งตัวกลับต่างหลบหนี

“เจ้าหน้าที่พยายามที่จะสร้างแรงจูงใจให้พวกที่อยู่ในรายชื่อผู้เดินทางกลับ แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาหลบหนีไปค่ายพักอื่น” นูร์ อิสลาม จากค่ายผู้ลี้ภัยจามโตลี กล่าว

ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 720,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ของพม่าเพราะการปราบปรามของทหารตั้งแต่ 25 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา ที่ทหารกระทำเหตุทารุณต่างๆ รวมทั้งการเข่นฆ่า ข่มขืน และทรมาน

ชาวมุสลิมโรฮิงญา 2,260 คน มีกำหนดเดินทางออกจากด่านชายแดนบังกลาเทศ ที่เมืองคอกซ์บาซาร์ ในวันพฤหัสบดี ที่เป็นการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก

แต่นูร์ อิสลาม กล่าวว่า แผนการดังกล่าวสร้างความสับสันและความกลัวในหมู่ชาวโรฮิงญา และหลายคนไม่ต้องการที่จะเดินทางกลับไปรัฐยะไข่ จนกว่าพวกเขาจะได้รับการรับรองสิทธิการเป็นพลเมือง และสิทธิอื่นๆ

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญารายหนึ่ง ระบุว่า ครอบครัวของเขาหลบหนีออกจากค่ายเดิมไปอาศัยที่ค่ายพักแห่งอื่นในคอกซ์บาซาร์ เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงที่จะถูกบังคับกลับประเทศ

“ผมมองไม่เห็นอนาคตสำหรับครอบครัวผม หากเราถูกส่งกลับตอนนี้โดยไม่มีการยืนยันว่าเราจะได้สถานะพลเมืองพม่าอย่างสมบูรณ์ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมพาครอบครัวไปอีกค่ายหนึ่ง เราไม่ต้องการกลับไปแบบนี้” ชาวโรฮิงญา กล่าว

ขณะที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเดินทางไปยังบ้านเกิดของพวกเขา หรือสถานที่ตั้งถิ่นฐานเพื่อประเมินด้วยตนเองว่าพวกเขาสามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีหรือไม่

“เจ้าหน้าที่พม่าควรอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้าไปดูด้วยตนเอง” หน่วยงานระบุ

สำหรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับจะได้รับอนุญาตให้เดินทางแค่ภายในเมืองหม่องดอ หนึ่งใน 3 เมืองที่พวกเขาหลบหนีไป และเมื่อยอมรับบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVC) เท่านั้น แต่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ปฏิเสธบัตรนี้ เพราะจะเป็นการยอมรับตามข้อกล่าวหาของพม่าที่ว่าพวกเขาเป็นชาวต่างชาติ ไม่ใช่ชาวพม่า

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากคัดค้านการเดินทางกลับพม่าหากยังไร้ซึ่งการรับรองสถานะพลเมือง และเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

ความคิดเห็น

comments