“มหาเธร์”ผิดหวัง“ซูจี”ไม่ปกป้องโรฮิงญา UN เบรกส่งกลับพม่า

ผู้นำมาเลเซียกล่าวในวันอังคาร (13 พฤศจิกายน) ว่าการตอบสนองของอองซานซูจี ต่อเหตุการณ์การกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่าเป็นสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้ นับเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพควบคู่กับข้อกล่าวหาสนับสนุนการก่ออาชญากรรมสงครามรายนี้เพียงไม่นานก่อนที่ทั้งคู่จะร่วมเวทีเดียวกัน ด้านข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติร้องบังกลาเทศระงับแผนส่งโรฮิงญากลับพม่าชี้มีแต่ความเสี่ยง

มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้นำมาเลเซียวัย 93 ปี กล่าวว่า เขารู้สึก “ผิดหวังมาก” กับความล้มเหลวของซูจีที่จะปกป้องโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในพม่าที่ถูกปฎิบัติการทางทหารขับไล่ออกจากพม่าตั้งแต่ 25 สิงหาคมปีก่อน ซึ่งผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ผู้นำมาเลเซียแสดงความเห็นดังกล่าวไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก่อนยืนข้างนางอองซานซูจีบนเวทีเพื่อถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนเริ่มการประชุมอาเซียนซัมมิตที่สิงคโปร์

“คนที่เคยถูกคุมขังมาก่อนควรทราบถึงความทุกข์ทรมาน และไม่ควรสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น” มหาเธร์ กล่าวกับนักข่าว โดยอ้างถึงซูจีที่เคยถูกควบคุมตัวภายในบ้านพักนานหลายปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร

“แต่ดูเหมือนว่าอองซานซูจีกำลังพยายามที่จะแก้ต่างในสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้” ผู้นำมาเลเซีย ระบุ

ซูจี ล้มเหลวที่จะกล่าวประณามอย่างชัดเจนต่อกองทัพพม่าถึงการปราบปรามอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้น

มหาเธร์ ผู้นำมาเลเซีย ยังได้เรียกร้องให้พม่ายอมรับโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศ

“เมื่อมาเลเซียเป็นเอกราชในปี 1957 เรามีผู้คนจากหลายเชื้อชาติ แต่เรายอมรับพวกเขาทั้งหมด เวลานี้ พวกเขาเป็นพลเมืองมาเลเซีย มีบทบาทอย่างเต็มที่ในการเมืองของประเทศ พวกเขามีอิสระ พวกเขาไม่ถูกคุมขังเพราะเชื้อชาติหรืออะไรแบบนั้น” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าว

ขณะที่มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้บังกลาเทศระงับแผนส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากว่า 2,200 คน กลับพม่า โดยเตือนว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างร้ายแรง

การบังคับกลับหรือขับไล่ผู้ลี้ภัยไปยังประเทศบ้านเกิดจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามมิให้ผู้ที่เดินทางกลับเผชิญกับภัยคุกคามจากการกดขี่ข่มเหงหรือชีวิตของพวกเขาอยู่ในอันตราย

พม่าและบังกลาเทศเห็นพ้องกันเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าในกลางเดือนพฤศจิกายน แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานผู้ลี้ภัยสหประชาชาติระบุว่า สภาพในรัฐยะไข่ยังไม่เอื้อให้ชาวโรฮิงญาเดินทางกลับ โดยชี้ถึงข้อจำกัดการเคลื่อนไหวและการขาดซึ่งสิทธิทางการเมือง รวมทั้งสถานะการเป็นพลเมืองของประเทศ

“เรารับรู้ถึงความหวาดกลัวและความหวั่นวิตกในหมู่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในคอกซ์บาซาร์ ที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะต้องเดินทางกลับพม่าขัดกับความต้องการของพวกเขา” บาเชเลต์ ระบุในคำแถลง อ้างถึงชาย 2 คน ที่พยายามฆ่าตัวตายจากกระบวนการส่งกลับ

การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในพม่าเป็นการทารุณกรรมที่เลวร้ายที่สุด ทั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาจเป็นถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บาเชเลต์ กล่าว

“จากความขาดแคลนซึ่งความรับผิดชอบเกือบสิ้นเชิง และการละเมิดที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง การส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่าในจุดนี้อาจหมายถึงการโยนพวกเขากลับไปสู่วงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนนี้ทนทุกข์มานานหลายสิบปี” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวย้ำ

สำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติยังได้รับรายงานการละเมิดอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ของพม่า ที่รวมทั้งการสังหาร การหายตัว และการจับกุมพลเรือนโดยไร้ความผิด

ความคิดเห็น

comments