รัฐสภาศรีลังกาลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษี วันพุธ (14 พฤศจิกายน) หลังจากที่ศาลสูงสุดได้สั่งระงับประกาศยุบสภาของประธานาธิบดี ไมตรีพาลา ศิริเสนา เป็นสัญญานว่าวิกฤตการเมืองกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
การู ชัยสุริยา ประธานรัฐสภาศรีลังกา ประกาศว่าสมาชิกส่วนใหญ่จากทั้งหมด 225 คนโหวตสนับสนุนญัตติไม่ไว้วางใจ ราชปักษี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา
กลุ่มพันธมิตรของ ราชปักษี ประกาศไม่ยอมรับผลการโหวต ซึ่งพวกเขายืนยันว่าการโหวตนี้ “ผิดกฎหมาย”
ความปั่นป่วนทางการเมืองในศรีลังกาเริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากประธานาธิบดี ศิริเสนา สั่งปลดนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห และตั้งอดีตประธานาธิบดี ราชปักษี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งยังประกาศยุบสภาก่อนกำหนดด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดได้พิพากษาให้ระงับกฤษฎีกาว่าด้วยการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เมื่อวันอังคาร (13) ซึ่งส่งผลให้มีการเปิดประชุมสภาได้อีกครั้งในวันพุธ (14)
อาร์. สัมบันธัน แกนนำกลุ่มฝ่ายค้านที่ต่อต้านราชปักษี บอกกับรอยเตอร์ว่า “ญัตติไม่ไว้วางใจซึ่งถูกนำเข้าอภิปรายในสภาได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ และเวลานี้เราอยู่ระหว่างลงนามเอกสาร”
ราชปักษี วัย 72 ปี กับบุตรชาย นามาล ซึ่งเป็น ส.ส. ตัดสินใจวอล์กเอาท์ก่อนที่รัฐสภาจะทำการโหวต ขณะที่ ส.ส. ฝ่ายราชปักษีบางคนพยายามจะเข้าไปแย่ง ‘คทา’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจอันชอบธรรมในสภาเพื่อขัดขวางการโหวต แต่ก็ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม มติไม่ไว้วางใจ ราชปักษี ยังไม่ถือเป็นชัยชนะที่เด็ดขาดสำหรับวิกรมสิงเห ซึ่งไม่ยอมย้ายออกจากบ้านพักนายกรัฐมนตรีหลังถูกประธานาธิบดีสั่งปลด และแม้พรรคของเขาจะเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในสภา แต่ ศิริเสนา ซึ่งมีกลุ่มของ ราชปักษี หนุนหลังก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้
ประธานรัฐสภาศรีลังกาวิจารณ์คำสั่งปลด วิกรมสิงเห และแต่งตั้ง ราชปักษี เป็นนายกฯ ใหม่ว่าไม่ต่างอะไรกับ ‘รัฐประหาร’ ที่ไร้ความรุนแรง
วิกฤตการเมืองครั้งนี้คาดว่าจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาปากท้องของประชากร 21 ล้านคนในศรีลังกา ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ
ราชปักษี เป็นประธานาธิบดีในช่วงที่กองทัพศรีลังกาได้ชัยชนะจากสงครามกวาดล้างกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อปี 2009 ซึ่งทำให้เขาเป็นเสมือน ‘วีรบุรุษ’ ในสายตาพลเมืองชาวพุทธส่วนใหญ่ ขณะที่นักการทูตตะวันตกชี้ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมือง ซึ่ง ราชปักษี ไม่เคยยอมรับ และกลุ่มการเมืองของเขายังอยู่เบื้องหลังความรุนแรงต่อชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศด้วย