ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อยู่ในความหวาดวิตกและไม่พอใจ เรียกร้องให้บังกลาเทศยุติความพยายามที่จะส่งตัวพวกเขากลับไปพม่า ท่ามกลางคำขู่ของพม่าว่าหากการส่งกลับล่าช้าก็เป็นเพราะบังกลาเทศ แต่ทว่าองค์กรระหว่างประเทศล้วนออกมาค้านการส่งกลับในเวลานี้เนื่องจากในพื้นที่ยังคงการเคลื่อนไหวต่อต้านชาวโรฮิงญาอยู่
ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนชุมนุมประท้วงใกล้กับชายแดนพม่า ร้องตะโกนว่า “พวกเราจะไม่กลับไป” ซึ่งวันแรกของกำหนดส่งผู้ลี้ภัยชุดแรกกลับประเทศ
ชาวโรฮิงญามากกว่า 720,000 คน หนีตายจากความรุนแรงของทหารพม่าไปยังบังกลาเทศ นับตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560 ที่สหประชาชาติเรียกร้องให้ดำเนินการสืบสวนภายใต้ข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ผู้ลี้ภัยจำนวนมากเปิดเผยเรื่องราวอันน่าสยดสยองเกี่ยวกับการสังหาร การข่มขืน และการวางเพลิงเผาหมู่บ้าน และให้คำมั่นว่าจะไม่กลับไปอีก
ไม่มีโรฮิงญาคนใดใน 150 คนแรกที่ต้องข้ามกลับไปฝั่งพม่าในวันพฤหัสบดี (15) ตามข้อตกลงกับพม่าต้องการเดินทางกลับ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่บังกลาเทศ
แกนนำชุมชน กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่อยู่ในรายชื่อส่งกลับประเทศของบังกลาเทศ 2,260 คน ต่างหนีไปหลบซ่อนตัว
กรรมาธิการด้านผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศเดินทางไปยังจุดข้ามแดนเพื่อส่งมอบกำหนดการ แต่ไม่มีโรฮิงญาคนใดขึ้นรถโดยสารเพื่อข้ามแม่น้ำที่เป็นเขตชายแดนระหว่างสองประเทศ
ที่ค่ายพิเศษใกล้จุดข้ามแดน รถโดยสาร 5 คัน กำลังรอรับอาสาสมัครไปยังชายแดน
ชาวโรฮิงญาราว 1,000 คน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ต่างเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงต่อต้านการส่งกลับประเทศ และร้องตะโกนว่า “เราต้องการความยุติธรรม”
ชาวโรฮิงญาอายุ 85 ปี ที่อยู่ในรายชื่อเดินทางกลับประเทศ กล่าวว่า “พวกเขาฆ่าลูกชายผมไป 2 คน ผมหนีมาบังกลาเทศกับลูกอีก 2 คน ได้โปรดอย่าส่งเรากลับไป พวกเขาจะฆ่าคนในครอบครัวที่เหลืออยู่ของผม ผมแก่เกินกว่าจะหนีออกจากค่ายแล้ว”
สหประชาชาติเรียกร้องให้บังกลาเทศระงับแผนส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับเป็นเหมือนการโยนพวกเขากลับไปยังวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนนี้ทนทุกข์มานานหลายสิบปีแล้ว
โมฮัมหมัด อาบุล คาลัม กรรมาธิการด้านผู้ลี้ภัยของรัฐบาลบังกลาเทศ กล่าวว่า คณะทำงานของเขาพร้อมเต็มที่ที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับ แต่ย้ำว่าโรฮิงญาต้องสมัครใจ
“หากเราได้คนที่ต้องการเดินทางกลับ เราจะพาพวกเขาไปยังด่านชายแดนด้วยความเคารพ และศักดิ์ศรี” อาบุล คาลัม กล่าว
คาลัม ระบุว่า จะไม่มีการบังคับส่งกลับ และทราบว่าหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติสำรวจพบว่าไม่มีครอบครัวใดพร้อมจะเดินทางกลับพม่า
“ไม่มีใครรู้สึกปลอดภัยที่จะกลับไปตอนนี้” คาลัม กล่าว