คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำลังพิจารณามาตรการที่จะผลักดันให้พม่าทำงานร่วมกับสหประชาชาติเพื่อจัดการแก้ไขวิกฤติผู้ลี้ภัยโรฮิงญา แม้จนถึงขณะนี้ทั้งจีนและรัสเซียยังคว่ำบาตรการเจรจาเกี่ยวกับมติที่อังกฤษร่างขึ้นก็ตาม
ร่างมติดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะกำหนดกรอบเวลากับพม่าเปิดทางให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน เดินทางกลับจากบังกลาเทศ และดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น
ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาต้องหนีตายออกจากรัฐยะไข่ตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560 หลังจากเผชิญหน้ากับปฎิบัติการทางทหารรุนแรงของพม่า ที่สหประชาชาติระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
ร่างมติจะเป็นการเตือนว่าคณะมนตรีความมั่นคงที่ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศนั้น อาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติมรวมถึงการคว่ำบาตร หากพม่าไม่ดำเนินการให้คืบหน้ามากพอ
แต่ยังไม่ชัดเจนว่าร่างมติจะมีการลงคะแนนเสียงหรือไม่ หรือเมื่อใด เนื่องจากมติใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุน 9 เสียง และไม่มีการคัดค้านจากรัสเซีย จีน สหรัฐฯ อังกฤษ หรือฝรั่งเศส เพื่อผ่านมติ ที่โดยปกติแล้วรัสเซียจะค้านมติต่างๆ ที่เกี่ยวกับพม่า
อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติระบุว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่มีประโยชน์ ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น ส่วนเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นเช่นกัน
ร่างฉบับนี้ได้ถูกส่งเวียนไปยังสมาชิกสภาเมื่อปลายเดือนก่อน และนักการทูตกล่าวว่ามีการเจรจาหารือกันอีกหลายรอบ แต่รัสเซียและจีนเข้าร่วมในการหารือเบื้องต้นเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนร่วมในการเจรจารอบอื่นๆ เพิ่มเติม
ร่างมติจะผลักดันพม่าให้ดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลของนางอองซานซูจีได้ลงนามไว้กับหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยและการพัฒนาของสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน รวมทั้งข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ ที่นางซูจี ตั้งให้อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นายโคฟี่ อันนัน เป็นประธาน
แต่ร่างมตินี้ไม่ได้รวมถึงการยื่นเรื่องสถานการณ์ในพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ