ซูจีไฟเขียว ทหารพม่าปฎิบัติการรอบใหม่ในยะไข่

นางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพม่า ประชุมหารือสถานการณ์กลุ่มก่อความไม่สงบโจมตีตำรวจพม่าเมื่อวันจันทร์ (7) การประชุมกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐบาลพม่าได้เรียกร้องให้กองทัพดำเนินการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวพุทธยะไข่ ตามการเปิดเผยของโฆษกรัฐบาลพม่า

การต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาล และกองทัพอาระกัน(AA) กลุ่มติดอาวุธยะไข่ในดินแดนของชาวโรฮิงญา ทางตะวันตกของพม่า ส่งผลให้ประชาชนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นหลายพันคนนับตั้งแต่ต้นเดือน ธันวาคม ตามการระบุของสหประชาชาติ

กองทัพอาระกัน(AA)ต้องการการปกครองตนเองสำหรับชาวพุทธในดินแดนที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญาที่เรียกว่ารัฐอาระกัน

รัฐยะไข่เผชิญต่อสถานการณ์การปราบปรามทางทหารรุนแรงในปี 2560 หลังทหารพม่าอ้างเหตุกลุ่มก่อความไม่สงบชาวมุสลิมโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจ ที่ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องหนีตายจากปฎิบัติการทางทหารของพม่าไปยังบังกลาเทศ

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวว่า นางอองซานซูจี ประธานาธิบดีวิน มี้น และสมาชิกในคณะรัฐมนตรี ได้พบหารือกับผู้นำทหาร ที่รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหาร เพื่อหารือเรื่องความมั่นคงของชาติและการต่างประเทศ

“สำนักงานประธานาธิบดีได้สั่งการให้ทหารดำเนินการปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้าย” ซอ เต กล่าวแถลงข่าวในกรุงเนปีดอ เมืองหลวงของพม่า

สื่อทางการของพม่ารายงานโดยอ้างว่า ผู้ก่อความไม่สงบได้สังหารตำรวจไป 13 นาย และตำรวจได้รับบาดเจ็บอีก 9 นาย จากการโจมตีสถานีตำรวจ 4 แห่ง เมื่อวันศุกร์ (4) ซึ่งตรงกับวันชาติพม่า 

โฆษกของกองทัพอาระกัน(AA)ที่อยู่นอกพม่ากล่าวกับรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่ากลุ่มของตนได้โจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงเพื่อตอบโต้การปราบปรามทางทหารในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่มุ่งเป้าพลเรือน

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (7) ว่า ประชาชนราว 4,500 คน ต้องพักอาศัยอยู่ตามวัดวาอารามหลังพลัดถิ่นจากการต่อสู้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ซอ เต ระบุว่า กองทัพอาระกัน(AA)เป็น “องค์กรก่อการร้าย” ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่กองกำลังรักษาความมั่นคงซึ่งเฝ้าระวังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา กองทัพอาระกันอาจบ่อนทำลายเสถียรภาพรัฐยะไข่ไปอีกหลายปี และเตือนประชาชนไม่ให้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนี้

“พวกเขาต้องการที่จะเห็นวัฏจักรของความรุนแรงต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีอย่างนั้นหรือ” ซอ เต กล่าวถาม

“ผมต้องการที่จะบอกกับชาวยะไข่ที่กำลังสนับสนุนกองทัพอาระกัน(AA) ว่า อย่าคิดถึงแต่ตัวเอง แต่ต้องคิดถึงคนรุ่นต่อไปของพวกคุณ” โฆษกรัฐบาล กล่าว

รัฐบาลพม่าต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มนับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 2491 แม้บางกลุ่มจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงก็ตาม

ซอ เต ยังกล่าวหาเชื่อมโยง 2 กลุ่มติดอาวุธในยะไข่ โดยอ้างว่ากองทัพอาระกัน(AA) ได้มีการพบหารือกับกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน กลุ่มก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา ที่พม่าถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเช่นกัน และเสริมว่า พม่ายังไม่สามารถกำจัดกลุ่มเหล่านี้ได้เนื่องจากมีฐานอยู่ในฝั่งบังกลาเทศ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยรักษาชายแดนบังกลาเทศ (BGB) ปฏิเสธข้อกล่าวหาของพม่า และเจ้าหน้าที่ BGB รายหนึ่ง ได้ร้องขอพม่าให้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับค่ายของกลุ่มติดอาวุธในบังกลาเทศ

“การก่อการร้ายทั้งหมดเกิดขึ้นในอีกฝั่งของชายแดน โลกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ฝั่งนั้น” ผู้บัญชาการ BGB ในเมืองคอกซ์บาซาร์ กล่าว

รัฐบาลพม่าและผู้นำทหารยังหารือถึงการหยุดยิงชั่วคราวที่กองทัพประกาศไปเมื่อเดือนก่อนในพื้นที่อื่นของประเทศ ซอ เต ระบุด้วยว่าการประชุมหารือครั้งนี้เกิดขึ้นตามคำขอของสำนักงานประธานาธิบดี

ความคิดเห็น

comments