นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ เรียกร้องให้พม่าดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการว่าด้วยวิกฤติโรฮิงญาภายใต้การนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เนื่องจากพม่ายังไม่สร้างสภาพแวดล้อมเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการเดินทางกลับประเทศของผู้ลี้ภัยจากบังกลาเทศ
ผู้อำนวยการยูนิเซฟชี้ว่า เด็กๆ จากชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและแทบไร้ความหวังในค่ายพักผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ
ชาวโรฮิงญาราว 730,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของพม่า นับตั้งแต่ทหารดำเนินการปราบปรามตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560 และยังมีชาวโรฮิงญาอีกนับแสนคนที่ยังอยู่ในรัฐยะไข่ ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวและการเข้าถึงการศึกษาและการดูแลสุขภาพ
ผู้อำนวยการยูนิเซฟยังกล่าวอีกว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของพม่าที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการของนายโคฟี อันนัน ที่รวมทั้งการรับรองเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการเข้าถึงการศึกษา จะช่วยแก้ไขความเป็นอยู่ของเด็กเหล่านั้น
“เราเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ช่วงเวลานี้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเพื่อเด็กทุกคน การดำเนินการขั้นตอนเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างสภาพเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางกลับประเทศของผู้ลี้ภัยจากบังกลาเทศ” โฟร์ กล่าวระหว่างเดินทางเยือนพม่า
นางอองซานซูจีตั้งคณะกรรมการของนายโคฟี อันนัน ในปี 2559 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางแก้ไขระยะยาวต่อปัญหาความแตกแยกทางศาสนา และชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ แต่การดำเนินการยังไม่เกิดขึ้นเนื่องด้วยรัฐยะไข่ยังเต็มไปด้วยเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพียงหนึ่งวันหลังคณะกรรมการของนายโคฟี อันนัน เผยแพร่รายงานในวันที่ 24 สิงหาคม 2560 ปฎิบัติการทางทหารในการกวาดล้างชาวโรฮิงญาก็เกิดขึ้น ซึ่งผู้สืบสวนของสหประชาชาติระบุว่าปฏิบัติการของทหารดังกล่าวเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ที่มีเจตนาล้างเผ่าพันธุ์
ในกลางปี 2561 รัฐมนตรีของพม่ากล่าวกับนักการทูตตะวันตกว่า คำแนะนำ 8 ข้อ ของนายโคฟี อันนัน ที่รวมถึงข้อหนึ่งซึ่งระบุเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการปรับแก้กฎหมายการเป็นพลเมืองฉบับปี 1982 ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาไร้สัญชาตินั้น เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาและไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุผลได้โดยทันที
คำแนะนำของคณะกรรมการยังรวมถึงข้อที่เรียกร้องให้รัฐบาลขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่โดยทันที และทวีความพยายามที่จะรับประกันว่าครูที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานในหมู่บ้านชาวมุสลิมกลับไปทำงานของตน รวมทั้งการให้การรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับรองว่าเด็กทุกคนในรัฐเข้าถึงการศึกษาในภาษาพม่า เป็นต้น
“เราเรียกร้องให้ทางการพม่าดำเนินการขั้นตอนจำเป็นต่างๆ เพื่อให้การเดินทางกลับประเทศของผู้ลี้ภัยเป็นไปอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยความเต็มใจ และปลอดภัย ในที่ที่สิทธิของพวกเขาได้รับความเคารพและพวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขกับเพื่อนบ้านของพวกเขาได้อีกครั้งหนึ่ง” ผู้อำนวยการยูนิเซฟ กล่าว