นายพลแห่งกองทัพอากาศเวเนซุเอลา ประกาศแปรพักตร์จากคณะบริหารของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ในวันเสาร์ (2 กุมภาพันธ์) พร้อมกับเรียกร้องเพื่อนร่วมชาติของเขาให้เข้าร่วมการประท้วง
พลอากาศตรี ฟรานซิสโก ยาเนซ กลายเป็นนายทหารระดับสูงคนแรกที่ประกาศแปรพักต์ออกจากรัฐบาลของมาดูโร นับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม เมื่อประธานสมัชชาแห่งชาติ ฮวน กวยโด ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ประกาศตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีรักษาการของเวเนซุเอลา
ในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางยูทูป ยาเนซในชุดเครื่องแบบทหารกล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมา” เขาพูดถึงมาดูโรว่าเป็นจอมเผด็จการ และเรียกกวยโดว่าเป็นประธานาธิบดี แต่ปฏิเสธที่จะกล่าวว่าเขายังคงอยู่ในเวเนซุเอลา หรือออกนอกประเทศไปแล้ว
ในการสนทนาทางโทรศัพท์เป็นเวลาสั้นๆ กับสำนักข่าว AP นายทหารผู้นี้ซึ่งใช้โทรศัพท์ที่เป็นหมายเลขของประเทศโคลอมเบีย ยืนยันว่าเขาเป็นผู้แถลงในคลิปวิดีโอจริง และบอกว่าเขาจะไม่แถลงอะไรเพิ่มเติมอีกยกเว้นแต่ได้รับมอบอำนาจจาก “ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็คือ ประธานาธิบดีฮวน กวยโด”
ในคลิปวิดีโอดังกล่าว ยาเนซซึ่งสำนักข่าว AFP ระบุว่า เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการวางแผนทางยุทธศาสตร์ แห่งกองบัญชาการชั้นสูงของกองทัพอากาศ (strategic planning director of the air force high command) อ้างว่า “90%” ของกองทัพเวเนซุเอลานั้นต่อต้านมาดูโร
แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าภายในกองทัพเวเนซุเอลานั้น ให้ความสนับสนุนกวยโดมากน้อยแค่ไหน
โรซิโอ ซาน มิเกล ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องฝ่ายทหารของเวเนซุเอลา ชี้ว่ายาเนซไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร กระนั้นเรื่องนี้ก็คือว่าเป็น “การกระหน่ำอย่างแรง” ต่อกองทัพ
กองบัญชาการทหารชั้นสูง ในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม วลาดิมีร์ ปาดริโญ สาบานตัวว่าจะจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อมาดูโร และเรียกกวยโดว่าเป็นพวกเที่ยวเร่ขายการรัฐประหารซึ่งหนุนหลังโดยสหรัฐฯ
พวกนายทหารที่เป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารภูมิภาคสำคัญๆ ของเวเนซุเอลา ก็แถลงแสดงตัวว่าจงรักภักดีต่อมาดูโรเช่นเดียวกัน
ฝ่ายทหารเวเนซุเอลานั้นเป็นผู้ควบคุมทรัพย์สินสำคัญๆ ของประเทศชาติ เป็นต้นว่า บริษัทรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมัน และพวกผู้บังคับบัญชาระดับท็อปของกองทัพได้ช่วยเหลือมาดูโรให้รอดพ้นจากการประท้วงขนาดใหญ่ของประชาชนครั้งก่อนๆ มาแล้วทั้งในปี 2014 และปี 2017 ด้วยการคุมขังพวกนักเคลื่อนไหว และปราบปรามพวกผู้ประท้วง
อย่างไรก็ตาม การประท้วงในระลอกนี้ได้รับความสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากต่างประเทศ โดยที่สหรัฐฯ, แคนาดา, และอีกหลายชาติได้ให้การรับรองกวยโดว่าเป็นผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมายของเวเนซุเอลาแล้ว
กวยโดนั้นโต้แย้งว่าการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยสองของมาดูโรเมื่อปีที่แล้วนั้นเป็นไปด้วยการทุจริตฉ้อฉล และเขาใช้อำนาจตามมาตรา 2 มาตราในรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลา ซึ่งให้สิทธิเขาในการใช้อำนาจประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราว
ในตอนเช้าวันเสาร์ (2) ผู้ชุมนุมหลายสายหลายขบวนเดินจากย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางและของคนยากจน ไปรวมตัวกันตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งกรุงการาคัส เพื่อเดินขบวนใหญ่ซึ่งตั้งเป้าเรียกร้องให้มาดูโรลาออก และจัดตั้งคณะรัฐบาลระยะผ่านซึ่งจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในเวเนซุเอลา
มาดูโรได้เรียกการประท้วงเหล่านี้ว่าเป็นความพยายามก่อการรัฐประหารยึดอำนาจที่นำโดยสหรัฐฯ พร้อมกับเรียกร้องให้พวกผู้สนับสนุนของเขาจัดการชุมนุมเดินขบวนขึ้นมาบ้างในวันเสาร์ (2) เช่นกัน เพื่อพิทักษ์ปกป้อง “การปฏิวัติ” ของเขา