นักเรียนทั่วโลกตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ไปจนถึงขั้วโลกเหนือ ต่างออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในวันศุกร์(15 มีนาคม) โดยที่ยุโรปมีคนเข้าร่วมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 150,000 คน ส่วนในสหรัฐฯ หลายพันคนออกมาชุมนุมเรียกร้องที่นิวยอร์ก ส่วนที่อินเดีย เด็กๆ ขอร่วมด้วย กดดันให้เจ้าหน้าที่้จัดการกับระดับมลพิษพุ่งสูง ด้านเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติสั่งเรียกประชุมฉุกเฉินภาวะอากาศของสหประชาชาติในกันยายนนี้
การประท้วงภาวะโลกร้อนของนักเรียนทั่วโลกในวันศุกร์(15) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากนักเคลื่้อนไหววัย 16 ปีชาวสวีเดน เกรธา ทันเบิร์ก( Greta Thunberg) ซึ่งได้ก่อหวอดประท้วงบริเวณด้านนอกรัฐสภาสวีเดนเมื่อปีที่ผ่านมา ได้จุดประกายทำให้เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส( Antonio Guterres) ถึงกับเอ่ยปากว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากคนรุ่นใหม่เหล่านี้จนทำให้ได้ออกคำสั่งเรียกการประชุมวาระพิเศษของสหประชาชาติในเดือนกันยายนที่จะถึง โดยตั้งชื่อว่าเป็น “การประชุมฉุกเฉินภาวะอากาศ”
ในวันศุกร์(15)ตั้งแต่เขตมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ไปจนถึงวงแหวนอาร์กติกขั้วโลกเหนือ กลุ่มเครือข่ายนักเรียนทั่วโลกที่ไม่พอใจในการรับมือด้านสภาวะอากาศของบรรดาผู้นำทั่วโลกได้ตบเท้าลงถนนพร้อมกัน โดยคิดประมาณว่ามี นักเรียนไม่ต่ำกว่า 100 ชาติเข้าร่วมการเรียกร้อง รวมถึงประเทศไทย
ส่วนของยุโรปผลจากการบอกแบบปากต่อปากและผ่านทางโซเชียลมีเดีย ตำรวจประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านโลกร้อนในยุโรปที่มีเข้าร่วมทั้งระดับนักเรียนและผู้ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 150,000 คน แต่ทว่าตัวเลขของผู้เข้าร่วมการเดินขบวนในสหรัฐฯสำหรับวันศุกร์(15) ดูเหมือนต่ำกว่าที่คาด
ฮาวานา แชปแมน-เอ็ดเวิร์ดส์ (Havana Chapman-Edwards) นักเรียนชาวอเมริกันวัย 8 ปีตะโกนคำขวัญระหว่างการประท้วงที่กรุงดีซี ที่มีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนว่า “พรมแดน ภาษา และศาสนา ไม่ได้แบ่งแยกพวกเรา” และกล่าวต่อว่า “วันนี้พวกเรากำลังบอกความจริง และพวกเราจะไม่รับคำปฎิเสธ”
ที่เมืองนิวยอร์ก ซิตี พบนักเรียนจำนวนหลายพันคนประท้วงตามจุดต่างๆ รวมไปถึงวงเวียนโคลัมบัส(Columbus Circle) ที่ว่าการเมือง พิพิธภัณฑ์สหรัฐฯประวัติศาสตร์ธรรมชาติ(American Museum of Natural History) รวมไปถึงสนามอเมริกันฟุตบอลที่โรงเรียนไฮสกูลด้านวิทยาศาสตร์บร็องซ์ (Bronx High School of Science) ซึ่งตำรวจสหรัฐฯได้จับกุมผู้ประท้วงจำนวน 16 ราย ข้อหาปิดกั้นการจราจรที่บริเวณพิพิธภัณฑ์
AP ชี้ว่า ทันเบิร์กนักเคลื่อนไหวการประท้วงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้แสดงความเห็นในการเดินขบวนที่กรุงสตอกโฮล์มว่า โลกในเวลานี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตที่เกิดขึ้นจริง เป็นมหันตภัยที่ใหญ่หลวงนับตั้งแต่มนุษยชาติได้เคยประสบมา แต่ยังคงเพิกเฉยมาเป็นเวลาหลายสิบปี
สำหรับภาพใหญ่ของการประท้วงทั่วโลก พบว่าบรรดาผู้ประท้วงได้เรียกร้องบรรดานักการเมืองให้เริ่มลงมือต่อภาวะโลกร้อน พร้อมกับแสดงปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่
สำหรับที่อินเดียซึ่งประสบปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศ บรรดานักเรียนร่วมประท้วงในกรุงนิวเดลีต่อการไม่ทำอะไรของบรรดานักการเมือง พร้อมกับเรียกร้องให้ทางเจ้าหน้าที่จัดการกับปัญหาระดับมลพิษเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มเกินกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกไปแล้ว
ขณะที่กรุงปารีส บรรดากลุ่มนักเรียนชาวฝรั่งเศสต่างเดินไปตามถนนเส้นต่างๆ รอบมหาวิหารพ็องเธอง(Panthéon) ซึ่งมีบางส่วนได้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี เอ็มมานุแอล มาครง โดยมาครงมองตัวเองว่าเป็นเสมือนเป็นผู้ให้หลักประกันต่อความตกลงทางสภาพอากาศกรุงปารีสปี 2015 แต่กลับถูกกลุ่มนักเคลื่อนไหวชี้ว่าเขาเอื้อต่อบรรดาภาคธุรกิจมากจนเกินไป และทำไม่มากพอในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในแอฟริกาใต้ กลุ่มผู้ประท้วงออกเดินขบวนที่กรุงพริโตเรีย ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า ทวีปแอฟริกา ที่มีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดต่อปัญหาโลกร้อนมากกว่าส่วนใดๆ ของโลกถึงแม้ว่าทางภูมิภาคจะมีบทบาทน้อยที่สุดในการปล่อยก๊าซ
และที่โปแลนด์ ในกรุงวอร์ซอว์ และเมืองต่างๆ บรรดาผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการเผาถ่านหินซึ่งเป็นต้นตอการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีบางส่วนถือป้ายประท้วงว่า “ทำรัก ไม่สร้าง CO2”
การประท้วงในสเปนที่กรุงมาดริดและอีกร่วม 50 เมืองทั่วประเทศดึงดูดผู้เข้าร่วมการประท้วงได้หลายพันคน เอพีชี้ ซึ่งสเปนมีปัญหาต่อการเพิ่มระดับน้ำทะเลและการที่พื้นดินกลายเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว
ส่วนที่เยอรมันพบว่ามีการรวมตัวถึง 20,000 ที่บริเวณจัตุรัสย่านดาวน์ทาวน์กลางกรุงเบอร์ลินก่อนที่เดินขบวนไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล