UN ชี้ยะไข่รุนแรงกระทบส่งกลับโรฮิงญา

ความรุนแรงในรัฐยะไข่ของพม่า จากการศึกษาของสหประชาชาติพบว่ามันส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านกว่า 1,000 แห่งของชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกทหารพม่าใช้กำลังขับไล่ออกจากพื้นที่

ผู้แทนพิเศษระดับสูงของสหประชาชาติเปิดเผยว่าผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติสามารถเข้าถึงหมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกทหารปราบปรามอย่างรุนแรงในปี 2560 ได้เพียงประมาณ 100 แห่งเท่านั้น ตามการเปิดเผยของนายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ

นอกจากนั้น การเข้าถึงหมู่บ้านดังกล่าวยังถูกจำกัดอย่างมากอีกด้วย กรันดี กล่าวกับนักข่าวหลังเสร็จสิ้นการเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ ที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่มากกว่า 1 ล้านคน

จากปัญหาความแตกแยกทางศาสนาและชาติพันธุ์อันซับซ้อน รัฐยะไข่เวลานี้เต็มไปด้วยการต่อสู้รุนแรงระหว่างทหารพม่าและกองทัพอาระกัน (AA) กลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของชาวพุทธยะไข่ และกำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปกครองตนเองในดินแดนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา

กองกำลังชาวยะไข่ที่เคยร่วมมือกับทหารพม่าในการปราบปรามชาวโรฮิงญา ได้ก่อเหตุสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าอย่างน้อย 22 นาย นับตั้งแต่การต่อสู้กับทหารพม่าทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่เดือน มกราคม

สหประชาชาติต้องการเข้าถึงพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาลพม่าเมื่อปีก่อนเพื่อเตรียมการสำหรับการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

“การดำเนินการตามข้อตกลงนี้คืบหน้าช้ามาก และยิ่งช้าในช่วง 3-4 เดือนหลังนี้” กรันดี กล่าวกับนักข่าว

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน หลบหนีตายจากการปราบปรามของทหารนับตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560 ข้ามแดนไปบังกลาเทศ ที่มีชนกลุ่มน้อยมุลิมราว 300,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ก่อนแล้ว

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายคนที่หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ กล่าวว่า มีการข่มขืน และสังหารหมู่ในหมู่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติชี้ว่าเป็นการกวาดล้างทางชาติพันธุ์

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติและนักการทูตกล่าวว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดขึ้น

ผู้นำสหประชาชาติยังได้เรียกร้องต่อประชาคมโลกให้เพิ่มการสนับสนุนทางการเงินสำหรับผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาล ซึ่งกรันดี กล่าวว่า การสนับสนุนในปีนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์

ความคิดเห็น

comments