การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 1,000 คน ขณะที่อาสาสมัครช่วยเหลือยอมรับว่า ความรุนแรงของโรคและปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคทำให้สถานการณ์ขณะนี้ “น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง”
การระบาดครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากเป็นอันดับ 2 รองจากเมื่อช่วงปี 2014-2016 ซึ่งพบผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกมากกว่า 11,300 คน
ความพยายามยับยั้งโรคไข้เลือดออกอีโบลาต้องเผชิญอุปสรรคจากการสู้รบในพื้นที่ รวมถึงกระแสต่อต้านจากชุมชนซึ่งไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคเท่าที่ควร
“ยอดผู้เสียชีวิตขณะนี้อยู่ที่ 1,008 คน (ยืนยันแล้ว 942 คน และคาดว่าเสียชีวิตจากอีโบลาอีก 66 คน)” กระทรวงสาธารณสุขระบุในรายงานอัปเดตสถานการณ์รายวันเมื่อวานนี้ (3)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกยืนยันการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งที่ 10 ในรอบ 40 ปีเมื่อเดือน สิงหาคม ปีที่แล้ว โดยจุดซึ่งพบผู้ป่วยมากที่สุดอยู่ที่เมืองเบนี (Beni) ในจังหวัดคิวูเหนือ ก่อนที่ไวรัสจะแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอิตูรี (Ituri) ซึ่งอยู่ติดกัน
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยแสดงความหวังว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้ เนื่องจากมีการผลิตวัคซีนตัวใหม่ออกมา ทว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้เจ้าหน้าที่ WHO ยอมรับว่า ปัญหาความมั่นคง, การขาดแคลนเงินทุน และนักการเมืองท้องถิ่นที่ยุให้ประชาชนต่อต้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภารกิจต่อสู้อีโบลาไม่ได้ผล
“เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากและอาจปะทุรุนแรงได้ทุกเมื่อ” ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของ WHO ให้สัมภาษณ์สื่อที่นครเจนีวาเมื่อวันศุกร์ (3) “คาดว่าสถานการณ์จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป และจะมีการแพร่กระจายของโรคอย่างรุนแรง”
ขณะนี้มีประชาชนที่ได้รับวัคซีนป้องกันเชื้ออีโบลาแล้วมากกว่า 110,000 คนหลังการระบาดครั้งล่าสุด โดยประเทศข้างเคียงอย่างรวันดาและยูกันดาก็ได้มีการฉีดวัคซีนให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของตนเช่นกัน