รายงานภายในของสหประชาชาติระบุ (18) ว่า มีความล้มเหลวอย่างเป็นระบบในสหประชาชาติต่อการจัดการสถานการณ์ในพม่าก่อนที่นำไปสู่การปราบปรามทางทหารในปี 2560 เนื่องจากการไร้ซึ่งยุทธศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว และขาดการสนับสนุนจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
การปราบปรามของทหารพม่าขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หนีตายออกจากรัฐยะไข่ หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ ซึ่งผู้สืบสวนของสหประชาชาติได้ระบุว่า ปฏิบัติการดังกล่าวมีเจตนาล้างเผ่าพันธุ์ และยังรวมถึงการสังหารหมู่ การรุมโทรมข่มขืน และการวางเพลิงอย่างกว้างขวาง
พม่าปฏิเสธว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ผิด โดยอ้างว่า การดำเนินการของทหารในหลายร้อยหมู่บ้านทางตอนเหนือของรัฐยะไข่เป็นการตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญา
รายงานข้อค้นพบของสหประชาชาติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้สั่งให้ดำเนินการทบทวนภายในต่อการปฏิบัติการของหน่วยงานในพม่า หลังเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติในพม่าถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยสัญญาณเตือนการโจมตีที่เกิดกับชาวโรฮิงญา
บางส่วนของการวิพากษ์วิจารณ์สหประชาชาติมุ่งไปที่ข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้ประสานงานของสหประชาชาติในขณะนั้น คือ นางเรนาตา ลอค-เดซซาลเลียน ไม่ให้ความสำคัญต่อการละเมิดชาวโรฮิงญาที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากมุ่งให้ความสำคัญไปที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลพม่า แต่สหประชาชาติได้กล่าวปฏิเสธต่อคำกล่าวอ้างเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม รายงานความยาว 36 หน้าที่เขียนขึ้นโดยอดีตนักการทูตจากกัวเตมาลา และได้แบ่งปันกับรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ได้ประณาม “ความแตกแยกภายในระบบของสหประชาชาติมากกว่าที่จะประสานสอดคล้องกัน” “การขาดซึ่งยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน” และข้อบกพร่องของ “การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและเป็นหนึ่งเดียวจากภาคสนาม”
อดีตนักการทูตจากกัวเตมาลา ระบุในรายงานว่า สหประชาชาติจำเป็นต้องปรับปรุง จัดการให้เป็นระบบ และแบ่งปันข้อมูลที่รวบรวมการวิเคราะห์เหตุการณ์จากสถานที่เกิดเหตุในช่วงเวลานั้น และหากมีการตีความหลากหลายเกิดขึ้นจากหลายส่วน พวกเขาควรแบ่งปันและพยายามสร้างความเข้าใจร่วมกัน
รายงานระบุว่า แม้จะเป็นเรื่องยากในการกำหนดความรับผิดชอบสำหรับความล้มเหลวอย่างเป็นระบบ แต่ยังมีความรับผิดชอบร่วมกันในส่วนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ไม่คำนึงถึงข้อกังวลหลักของสหประชาชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
สหประชาชาติพยายามที่จะรักษาสมดุลการสนับสนุนรัฐบาลพม่ากับการพัฒนาและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คณะมนตรีความมั่นคงที่เยือนรัฐยะไข่ของพม่าเมื่อปีก่อน กลับไม่สามารถหาทางออกได้เนื่องจากจีนและรัสเซีย ที่เป็นพันธมิตรของพม่า ขัดขวางชาติตะวันตกเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับสถานการณ์ในพม่า
ด้านโฆษกสหประชาชาติ กล่าวว่า กูเตอร์เรสได้ยอมรับข้อแนะนำของรายงานฉบับนี้ และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามคำแนะนำเหล่านั้น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของระบบของสหประชาชาติ
ส่วนฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า รายงานชิ้นนี้น่าผิดหวัง เนื่องจากไม่ระบุอย่างเจาะจงถึงเจ้าหน้าที่สหประชาชาติที่รับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น