ฝ่ายค้านตุรกีชนะศึกชิงนายกเทศมนตรีอิสตันบูล

ผู้สมัครฝ่ายค้านตุรกีคว้าชัยในศึกชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลรอบที่สอง

เอเกรม อิมาโมกลู (Ekrem Imamoglu) ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันพีเพิลส์ปาร์ตี้ (CHP) ได้รับคะแนนจากผลรวมทั้งสิ้น 54.21% ตามรายงานจากสำนักข่าวอนาโดลู ซึ่งถือว่านำห่างคู่แข่งจากพรรครัฐบาลยิ่งกว่าเมื่อ 3 เดือนก่อน

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศให้ผลเลือกตั้งนายกเทศมนตรีอิสตันบูลคราวก่อนเป็นโมฆะ หลังพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ของ แอร์โดกัน ออกมาคัดค้าน โดยอ้างถึงความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างจากการเลือกตั้งรอบแรก 

กลุ่มผู้สนับสนุน อิมาโมกลู หลายหมื่นคนได้ออกมาเฉลิมฉลองตามท้องถนนเมื่อวันอาทิตย์ (23) หลังทราบว่าอดีตนักธุรกิจสามารถเอาชนะผู้สมัครของ แอร์โดอัน ไปด้วยคะแนนเกือบ 800,000 เสียง

“ณ เมืองแห่งนี้ในวันนี้ ท่านได้ช่วยกับซ่อมแซมระบอบประชาธิปไตย ขอขอบคุณชาวอิสตันบูล” อิมาโมกลู กล่าวต่อผู้สนับสนุนซึ่งต่างชูมือเป็นสัญลักษณ์รูปหัวใจ

“เราเข้ามาเพื่อที่จะโอบกอดทุกคน เราจะสร้างประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นที่นี่ และในเมืองอันงดงามแห่งนี้ ผมขอให้สัญญาว่าเราจะร่วมสร้างอนาคตไปด้วยกัน”

แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งสูงสุดจะยังไม่ประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ แต่ประธานาธิบดี แอร์โดกัน ได้ออกมาแสดงความยินดีต่อ อิมาโมกลู เช่นเดียวกับ บินาลี ยิลดิริม ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล AKP ซึ่งอวยพรให้คู่แข่งของตนโชคดีในการเป็นนายกเทศมนตรี หลังปิดหีบเลือกตั้งได้เพียง 2 ชั่วโมง

ชัยชนะของ อิมาโมกลู นำความพ่ายแพ้มาสู่พรรค AKP ที่กุมอำนาจบริหารเมืองใหญ่ที่สุดของตุรกีมานานถึง 25 ปี โดยเขาได้รับเสียงสนับสนุนล้นหลามแม้แต่ในเขตที่ประชาชนค่อนข้างเคร่งศาสนา ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นพรรค AKP

ผลเลือกตั้งนายกเมืองอิสตันบูลยังเป็นการพลิกประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของตุรกี เมื่อฝ่ายค้านได้กุมอำนาจบริหาร 3 เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ และอาจเป็นชนวนให้เกิดรอยร้าวภายในพรรครัฐบาลของ แอร์โดกัน ด้วย

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความพ่ายแพ้ครั้งนี้อาจกระตุ้นให้ แอร์โดกัน สั่งปรับคณะรัฐมนตรี หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการต่างประเทศ และอาจถึงขั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดในปี 2023 แม้แกนนำกลุ่มชาตินิยมในพรรค AKP จะออกมาปฏิเสธก็ตามที

พรรค AKP ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากกลุ่มชาวเติร์กที่เคร่งครัดศาสนา และความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของ แอร์โดกัน ก็ช่วยให้เขาชนะศึกเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจตุรกีที่เริ่มซบเซาลง บวกกับวิกฤตค่าเงินลีราตกต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนบางส่วนหันหลังให้กับพรรค และการที่ แอร์โดกัน พยายามผูกขาดอำนาจมากขึ้นด้วยการแก้กฎหมายหลายฉบับก็ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งบางคนเกิดความหวั่นวิตก

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของอิสตันบูล ประกอบกับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เห็นผลล่าช้า และคำขู่คว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อกรณีที่ แอร์โดกัน ประกาศจะเดินหน้าติดตั้งระบบขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซีย ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

ความคิดเห็น

comments