ทางการมาเลเซียสั่งปิดสถานศึกษากว่า 400 แห่ง หลังมีประชาชนจำนวนมากในรัฐยะโฮร์ล้มป่วยจากการสูดดมก๊าซพิษที่เชื่อว่าน่าจะมาจากโรงงานสารเคมีแห่งหนึ่ง
นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ประชาชนในเขตปาซีร์กุดัง (Pasir Gudang) ของรัฐยะโฮร์ต้องเผชิญกับวิกฤตมลพิษขั้นรุนแรง หลังจากที่เมื่อ 3 เดือนก่อนก็มีรถบรรทุกขนขยะพิษมาทิ้งในแม่น้ำจนเกิดก๊าซพิษฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ชาวบ้านที่สูดดมเข้าไปมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
คนในชุมชนเริ่มสังเกตเห็นควันพิษลอยข้ามมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว จากนั้นชาวบ้านและเด็กนักเรียนก็เริ่มอาเจียนและหายใจติดขัด
สำนักข่าวเบอร์นามาอ้างข้อมูลจาก ชาห์รุดดิน ยาม้าล มุขมนตรีแห่งรัฐยะโฮร์ ซึ่งระบุว่ามีผู้ป่วยถูกนำส่งโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 75 คน
ทางการได้สั่งปิดสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งหมด 475 แห่งไปจนถึงวันพฤหัสบดี (27) ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษา 3 แห่ง, โรงเรียนของรัฐ 111 แห่ง, โรงเรียนเอกชน 14 แห่ง และโรงเรียนอนุบาล 347 แห่ง
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเหตุการณ์ล่าสุดไม่น่าจะเชื่อมโยงกับปัญหาก๊าซพิษที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน มีนาคม
นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮำหมัด ประกาศจะหาตัวผู้รับผิดชอบให้ได้
“ดูเหมือนจะมีโรงงานบางแห่งที่ไม่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเท่าที่ควร… เราจะต้องหาตัวผู้ก่อมลพิษมารับผิดชอบ และมีบทลงโทษที่จริงจัง” ผู้นำมาเลเซียระบุ
ชาวบ้านบางคนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับวิกฤตมลพิษที่เกิดขึ้นล่าสุด
“มันกระทบกับวิถีชีวิตของเราแน่นอน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็ไม่มาซื้ออาหารแถวนี้แล้ว” นอร์มะห์ อะหมัด แม่ค้าวัย 63 ปี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ “ฉันหวังว่ารัฐคงจะเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง”
ชาห์รุดดิน ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่กำลังเข้าตรวจสอบโรงงานสารเคมี 30 แห่งในพื้นที่ ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถระบุต้นตอของก๊าซพิษได้